นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ “เจ้าต้นขาสลาตัน” หลังพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ ที่คาดว่าน่าจะมีต้นขาขนาดมหึมา และยังมีกล้ามเนื้อไหล่ที่แข็งแรง เหมาะแก่การปีนป่าย
ซากฟอสซิลของไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่นี้ สำนักข่าวบีบีซีนิวส์ระบุว่า ขุดพบจากเหมืองแร่ในมลรัฐยูทาห์ สหรัฐฯ ซึ่งแม้ว่าซากฟอสซิลจะแตกหักเสียหาย แต่ก็เพียงพอที่จะบอกนักวิจัยได้ว่า สัตว์ชนิดนี้ต้องมีขาที่มีพละกำลังมหาศาล
ในวารสารแอคตา พาเลนโทโลจิกา โพโลนิกา (Acta Palaeontologica Polonica) นั้น นักวิจัยรายงานว่า เป็นไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ประเภทซอโรพอด (sauropod) ซึ่งเป็นวงศ์ไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียง เรื่องมีคอและหางที่ยาวมาก และไดโนเสาร์พันธุ์นี้ ยังอาจเตะสัตว์อื่นได้อย่างรุนแรง
“ถ้ามีนักล่ามาข้างหลัง มันสามารถเตะศัตรูกระเด็นได้” ดร.ไมค์ เทย์เลอร์ (Dr.Mike Taylor) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) สหราชอาณาจักร กล่าว
ทีมวิจัยตั้งชื่อให้ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ที่ค้นพบว่า บรอนโตเมอรัส ซินโทชิ (Brontomerus mcintoshi) ตามภาษากรีก ซึ่ง “บรอนโต” (bronto) หมายถึง แรงและเร็วดุจสายฟ้าฟาด (thunder) ส่วน “เมอรอส” (merós) หมายถึง “ต้นขา” (thigh)
กระดูกฟอสซิลที่พบเป็นของไดโนเสาร์ 2 วัย คือ ไดโนเสาร์ที่โตเต็มวัยแล้วกับไดโนเสาร์อายุน้อย ซึ่งหาอายุของกระดูกดังกล่าวได้ประมาณ 110 ล้านปี ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างขุดพบจากเหมืองแร่โฮเทลเมซา (Hotel Mesa Quarry) ในเคาน์ตีแกรนด์ ยูทาห์
บริเวณที่ขุดพบฟอสซิลนั้น ถูกปล้นสะดมภ์จากนักล่าฟอสซิล เพื่อนำไปขาย ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงขาดตัวอย่างกระดูกหลายๆ ชิ้นไป แต่ถึงอย่างนั้นฟอสซิลกระดูกที่ค้นพบก็บอกได้ถึงลักษณะทางกายภาพที่แข็งแกร่งของไดโนเสาร์ ซึ่งบ่งชี้ถึงการเป็นสปีชีส์ที่ไม่ธรรมดา
ฟอสซิลชิ้นสำคัญที่สุดในการค้นพบครั้งนี้คือ “กระดูกเชิงกราน” ซึ่งมีขนาดใหญ่ผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ที่คล้ายๆ กัน ด้วยลักษณะที่กว้างของกระดูกรูปใบมีดที่ยื่นตรงออกไปยังข้อต่อสะโพก ทำให้มีพื้นที่มากที่จะเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ ซึ่ง ดร.เทย์เลอร์กล่าวว่าลักษณะกระดูกดังกล่าวทำให้มีกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ไล่ตั้งแต่สะโพกลงไปถึงเข่า
“สิ่งที่น่าสนใจคือหากไดโนเสาร์นี้เป็นซอโรพอด ก็จะเป็นซอโรพอดที่เคลื่อนที่ได้เร็วมาก” ดร.เทย์เลอร์ และบอกว่าโครงสร้างดังกล่าวทำให้ไดโนเสาร์ชนิดนี้เตะได้รุนแรงมาก
สำหรับฟอสซิลชิ้นใหญ่ของไดโนเสาร์นั้น นักบรรพชีวินวิทยาคาดว่าน่าจะเป็นไดโนเสาร์ตัวแม่ของตัวอย่างฟอสซิลไดโดเสาร์อายุน้อยที่พบด้วยกัน โดยกะว่าไดโนเสาร์โตเต็มวัยนั้นน่าจะหนักถึง 6 ตัน หรือขนาดประมาณช้างตัวใหญ่ๆ และน่าจะมีความยาวประมาณ 14 เมตร ส่วนเจ้าตัวเล็กน่าจะหนักประมาณ 200 กิโลกรัม หรือขนาดประมาณม้าพันธุ์เล็กและมีความยาวประมาณ 4.5 เมตร
ยุคที่บรอนโตมีรัสอาศัยอยู่นั้นคือยุคครีเตเชียสตอนต้น (Early Cretaceous Period) ตามการแบ่งยุคทางธรณีวิทยา และบางตำหนิบนฟอสซิลได้ให้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของไดโนเสาร์ชนิดนี้ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่สัตว์ชนิดนี้ต้องเผชิญ
ดร.แมตต์ เวเดล (Dr.Matt Wedel) จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นเพื่อวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Western University of Health Sciences) ในโพโมนา แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ บอกว่าลักษณะหัวไหล่ของบรอนโตเมอรัสยังมีร่องรอยการเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อจำนวนมาก ซึ่งบ่งชี้ว่าไดโนเสาร์พันธุ์นี้มีกล้ามเนื้อที่ใช้ปีนป่ายอันแข็งแรงมากด้วย
“อาจเป็นไปได้ว่าเจ้า บรอนโตเมอรัสซินโทชิ นี้มีความเป็นนักกีฬามากกว่าซอโรพอดชนิดอื่นๆ มันแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าตัวมันนั้นห่างไกลสัตว์อย่างฮิปโปที่ต้องแช่ตัวอยู่น้ำ ซอโรพอดต้องการสถานที่แห้งกว่า อยู่พื้นที่บนบกขึ้นมา ดังนั้น บรอนโตเมอรัส น่าจะอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาขรุขระ และกล้ามเนื้ออันทรงพลังก็ทำให้มันเป็น “ไดโนเสาร์ขับเคลื่อนสี่ล้อ” เลยทีเดียว” ดร.เวเดลกล่าว
ทีมวิจัยยังเชื่ออีกว่า การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญต่อยุคการมีอยู่ของไดโนเสาร์พันธุ์นี้ในประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งท้าทายต่อความเชื่อว่าซอโรพอดนั้นเริ่มสูญพันธุ์ไปในยุคครีเตเชียสตอนต้น
“เพราะว่าซอโรพอดนั้นเป็นไดโนเสาร์ที่พบมากที่สุดในยุคจูราสสิค (Jurassic Period) แต่พบได้ยากในระหว่างยุคครีเตเชียสตอนต้น ทั้งนี้ เข้าใจกันมายาวนานว่าซอโรพอดนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จในยุคจูราสสิค แล้วถูกไดโนเสาร์ปากเป็ด (duckbills) และไดโนเสาร์มีเขาเข้ามายึดพื้นที่ในยุคครีเตเชียส” ดร.เวเดลกล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.เวเดลบอกว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้เราค้นพบซอโรพอดจากยุคครีเตเชียสตอนต้นมากขึ้น และภาพความเชื่อต่อไดโนเสาร์พันธุ์นี้กำลังเปลี่ยนไป ตอนนี้ดูเหมือนว่าซอโรพอดนั้นอาจจะมีอยู่มากมายเหมือนที่เคยอยู่ในยุคจูราสสิคแต่อาจไม่ได้มีจำนวนมากเท่ากับยุคที่เคยรุ่งเรือง
ด้าน ดร.เทย์เลอร์รู้สึกผิดหวังที่ บรอนโตเมอรัส ไม่ถูกค้นพบได้มากกว่านี้ และแปลกใจที่ฟอสซิลชิ้นใหญ่ถูกเก็บไว้เป็นของส่วนตัวของนักสะสมซากฟอสซิล โดยปกติแล้วบริเวณค้นพบตัวอย่างซอโรพอดครั้งนี้เป็นบริเวณที่เหล่านักล่าฟอสซิลเข้ามาขโมยซากฟอสซิลด้วย
“พวกนี้ทิ้งไว้แต่เศษชิ้นส่วนที่แตกหักและกระดูกที่มีร่องรอยเสียหาย และบางกรณีพวกนี้ก็ใช้กระดูกที่แตกหักนั่นแหละตึงผ้าร่มกันฝน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอับอายที่สุด” ดร.เทย์เลอร์ให้ความเห็น