xs
xsm
sm
md
lg

เซอร์ไพรส์! พบดวงจันทร์ใหม่อีกดวงของ “พลูโต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากกล้องฮับเบิลที่เผยให้เห็นดวงจันทร์ 4 ดวงโคจรรอบพลูโต ภาพซ้ายบันทึกเมื่อ 28 มิ.ย. ส่วนภาพขวาบันทึกเมื่อ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา (ภาพทั้งหมดจากสเปซด็อมคอม)
นักวิทยาศาสตร์พบดวงจันทร์ดวงที่ 4 ของ “พลูโต” ระหว่างใช้กล้อง “ฮับเบิล” ค้นหาวงแหวนของดาวเคราะห์แคระดวงนี้ ชี้เป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กที่สุดของอดีตสมาชิกดาวเคราะห์ระบบสุริยะดวงนี้ นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อให้ชั่วคราวดวงจันทร์ "พี 4”

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยว่า ระหว่างนักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ค้นหาวงแหวนของดาวพลูโต แล้วได้พบดวงจันทร์อีกดวงของดาวเคราะห์แคระที่ครั้งหนึ่งถูกระบุว่าเป็นดาวเคราะห์ดวงนี้ โดยเป็นดวงจันทร์ดวงที่ 4 ของดาวเคราะห์แคระที่เย็นยะเยือก

นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อชั่วคราวให้ดวงจันทร์ใหม่ของพลูโตว่า “พี 4” (P4) โดยดวงจันทร์ดวงนี้เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดเล็กที่สุดของพลูโต โดยประมาณว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 13-34 กิโลเมตร ขณะที่ดวงจันทร์อีก 3 ดวงมีขนาดใหญ่กว่ามาก โดย “คารอน” (Charon) ดวงจันทร์ขนาดใหญ่สุดของพลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,043 กิโลเมตร ส่วน “นิกซ์” (Nix) และ “ไฮดรา” (Hydra) มีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 32-113 กิโลเมตร

มาร์ก โชวอลเตอร์ (Mark Showalter) จากสถาบันเซติ (SETI Institute) ในเมาน์เทียนวิว แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ที่เป็นหัวหน้าชุดสำรวจในครั้งนี้กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าทึ่งมากที่กล้องของฮับเบิลทำให้เราเห็นวัตถุขนาดเล็กเช่นนั้นได้อย่างชัดเจนจากระยะทางที่ไกลถึง 5 พันล้านกิโลเมตร

นาซาระบุว่า การค้นพบครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนปฏิบัติการ “นิวฮอไรซอนส์” (New Horizons) ของนาซาที่มีกำหนดส่งยานไปศึกษาโลกใหม่ๆ ที่ขอบระบบสุริยะ ซึ่งข้อมูลแผนที่พื้นผิวพลูโตและการค้นพบดวงจันทร์ใหม่ด้วยกล้องฮับเบิลนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนส่งยานอวกาศในปฏิบัติการนี้

ดวงจันทร์ดวงใหม่นี้โคจรอยู่ระหว่างดวงจันทร์นิกซ์และไฮดรา ซึ่งดวงจันทร์ทั้งสองถูกค้นพบด้วยกล้องฮับเบิลเมื่อปี 2005 ส่วนชารอนถูกพบด้วยกล้องโทรทรรศน์จากหอดูดาวกล้องทัพเรือสหรัฐฯ (U.S. Naval Observatory) เมื่อปี 1978 และได้รับการยืนยันอีกครั้งจากการสำรวจด้วยกล้องฮับเบิลเมื่อปี 1990 ซึ่งยืนยันว่าดวงจันทร์ดังกล่าวแยกขาดจากพลูโต

สำหรับระบบดวงจันทร์ของพลูโตนี้คาดว่าเกิดจากการชนกันระหว่างพลูโตและวัตถุอื่นที่มีขนาดประมาณดาวเคราะห์ ในยุคแรกเริ่มของระบบสุริยะ การชนกันครั้งนั้นทำให้เกิดเศษเล็กเศษน้อยที่กลายเป็นดวงจันทร์โคจรรอบพลูโต
แผนภาพแสดงการโคจรของดวงจันทร์รอบดาวพลูโต
ภาพเปรียบเทียบขนาดของพลูโตและดวงจันทร์ทั้ง 4
(ซ้ายไปขวา) ภาพเปรียบเทียบขนาดดวงจันทร์ของโลก , ดาวเคราะห์แคระอีริส (Eris) และ พลูโต
กำลังโหลดความคิดเห็น