กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลส่องพบร่องรอยโมเลกุลอินทรีย์บนพื้นผิวดาวเคราะห์แคระ “พลูโต” ซึ่งโมเลกุลอินทรีย์นี้คือองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จัก
สเปซด็อทคอมรายงานว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เผยหลักฐานใหม่เกี่ยวกับสสารบางอย่างบนพื้นผิวของดาวเคราะห์แคระพลูโต (dwarf planet Pluto) ซึ่งดูดกลืนแสงอัลตราไวโอเลตมากกว่าที่คาดไว้ โดยนักวิจัยระบุว่าสสารดังกล่าวอาจเป็นสารอินทรีย์ และเป็นไปได้ว่าอาจเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ซับซ้อน หรืออาจเป็นโมเลกุลไนโตรเจนก็ได้
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบดีว่าพื้นผิวของพลูโตนั้นซุกซ่อนน้ำแข็งของมีเทน คาร์บอนมอนอไซด์และไนโตรเจน ซึ่งนักวิจัยอธิบายต่อว่า สารเคมีที่ดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลตนั้นอาจเกิดขึ้นจากแสงอาทิตย์หรืออนุภาคที่มีความเร็วสูงอย่างรังสีคอสมิค (cosmic ray) ทำอันตรกริยากับน้ำแข็งเหล่านั้น
“การค้นพบนี้น่าตื่นเต้นเพราะสารประกอบไฮโดรคาร์บอนและโมเลกุลอื่นๆ บนพลูโตอาจตอบสนองต่อรังสียูวีอย่างที่เราได้เห็นจากกล้องฮับเบิล ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ดาวพลูโตมีสีแดงก่ำ” อลัน สเติร์น (Alan Stern) นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ (Southwest Research Institute) โบลเดอร์ โคโลราโด สหรัฐฯ กล่าว
พลูโตโคจรรอบดวงอาทิตย์จากแถบวงแหวนซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุน้ำแข็งที่เรียกว่า “แถบไคเปอร์” (Kuiper Belt) และวัตถุอื่นๆ ในแถบวงแหวนนี้ส่วนมากก็มีสีค่อนข้างแดง และก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคาดเดาด้วยว่า สารอินทรีย์ทำให้วัตถุเหล่านั้นมีสีแดง
นอกจากนี้สเติร์นและคณะยังพบด้วยว่า สเปกตรัมแสงอัลตราไวโอเลตของพลูโตนั้นเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับข้อมูลที่ฮับเบิลวัดได้ระหว่างปี 1990 โดยพวกเขาได้ใช้กล้องโทรทรรศน์คอสมิคออริจินส์สเปคโตรกราฟ (Cosmic Origins Spectrograph) ของฮับเบิลในการค้นพบล่าสุด
สำหรับความแตกต่างที่พบนั้นอาจสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศบนดาวเคราะห์แคระพลูโตนับแต่ช่วงเวลาดังกล่าว และนักวิจัยยังบอกอีกว่า เป็นไปได้ที่ความดันบรรยากาศของพลูโตที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันนั้นเป็นสาเหตุในการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวพลูโต
การค้นพบจากสังเกตการณ์โดยกล้องฮับเบิลครั้งนี้จะเปิดทางสำหรับยานสำรวจที่จะเยือนดาวเคราะห์แคระอันหนาวเหน็บที่อยู่แสนไกลนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยยานอวกาศนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) จะไปถึงพลูโตในปี 2015
สำหรับยานนิวฮอไรซอนส์นั้นถูกส่งขึ้นไปเมื่อเดือน ม.ค.2006 เพื่อท่องอวกาศเป็นระยะทาง 6.4 พันล้านกิโลเมตร ไปถึงพลูโต และจะเข้าใกล้ดาวเคราะห์แคระดังกล่าวมากที่สุดในวันที่ 14 ก.ค.2015 ซึ่งในวันนั้นยานนิวฮอไรซอนส์จะอยู่ห่างจากพลูโตเพียง 12,500 กิโลเมตร