xs
xsm
sm
md
lg

แย่ล่ะ! ดวงจันทร์ “พลูโต” อาจทำอันตรายยานนาซา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยานนิวฮอไรซอนส์ของนาซากำลังมุ่งหน้าไปหาพลูโต แต่นักดาราศาสตร์เพิ่งพบว่ามีโอกาสที่ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แคระ จะทำให้เกิดเศษซากที่เป็นอันตรายต่อยานอวกาศได้ (บีบีซีนิวส์)
ตั้งใจส่งยานอวกาศไปสำรวจ “พลูโต” อดีตดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ แต่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งพบวดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แคระอาจมีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อยานของนาซา ซึ่งกำลังเดินทางเข้าใกล้เป้าหมายอยู่ในขณะนี้

ตอนนี้ยาน “นิวฮอไรซอนส์” (New Horizons) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เดินทางมาเกือบ 7 ปีแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อเดินทางผ่านระบบสุริยะมุ่งหน้าสู่ดาวพลูโต (Pluto) อดีตดาวเคราะห์ที่ถูกปรับให้เป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) โดยต้องใช้ระยะเวลาทั้งหมด 9 ปีครึ่งสู่เป้าหมาย

อย่างไรก็ดี นับแต่ส่งยานขึ้นไปบีบีซีนิวส์ ระบุว่า นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดวงจันทร์อีก 2 ดวงโคจรรอบพลูโตอันหนาวเหน็บ ทำให้พวกเขาทราบว่ามีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นที่จะมีเศษเล็กเศษน้อยรอบดาวเคราะห์แคระ ซึ่งทำอันตรายต่อยานอวกาศได้

ดร.อลัน สเทิร์น (Dr.Alan Stern) หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ในปฏิบัติการนิวฮอไรซอนส์กล่าวว่า พวกเขาพบดวงจันทร์ที่โคจรรอบพลูโตมากขึ้นเรื่อยๆ และจนถึงตอนนี้นับได้ 5 ดวงแล้ว และดวงจันทร์ทั้งที่พบแล้ว และยังไม่พบนั้นทำตัวเหมือนตัวสร้างเศษอันตรายในระบบของพลูโต โดยทำให้เกิดเศษซากมีคมจากการชนกันระหว่างดวงจันทร์เหล่านั้นกับวัตถุในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt)

สำหรับดวงจันทร์ทั้ง 5 ดวงของพลูโตที่พบแล้ว คือ ชารอน (Charon) ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 1978 ไฮดรา (Hydra) และนิกซ์ (Nix) ที่ถูกค้นพบเมื่อปี 2005 และ เอส/2011พี1 (S/2011 P 1) กับ เอส/2012พี1 (S/2012 P 1) ที่ถูกพบด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เมื่อปี 2011

ด้าน ฮอล วีเวอร์ (Hal Weaver) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการยานนิวฮอไรซอนส์จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ (Applied Physics Laboratory) ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ (Hopkins University) ในแมรีแลนด์ สหรัฐฯ กล่าวว่า ยานฮอไรซอนส์นั้นเดินทางด้วยความเร็วกว่า 48,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น การปะทะกับก้อนกรวดเล็กๆ หรือมีขนาดไม่ถึงมิลลิเมตรเพียงชิ้นเดียว ก็สามารถทำลายยานอวกาศได้เลยทีเดียว

ดังนั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงต้องสำรวจบริเวณที่เศษซากอันตรายให้ทั่ว โดยนักวิทยาศาสตร์ในปฏิบัติการนี้จึงอาศัยแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้น รวมถึงกล้องฮับเบิลเพื่อค้นหาเศษซากที่อยู่ในวงโคจรรอบพลูโต

ขณะเดียวกัน ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็วางทางเลือกเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับยานอวกาศ เพราะยิ่งใกล้ระบบพลูโตมากขึ้น ยิ่งต้องพยายามรักษาภารกิจทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ให้ได้

เลสลี ยัง (Leslie Young) นักวิทยาศาสตร์ผู้ช่วยในโครงการ กล่าวว่า จากที่ได้ประเมินไว้ พวกเขายังคงปฏิบัติภารกิจหลักที่ตั้งเป้าไว้ได้ หากทำการบินระยะที่ประเมินแล้วว่าปลอดภัย ซึ่งแม้ปรารถนาที่จะเข้าใกล้พลูโตให้ได้มากที่สุด แต่การเข้าใกล้มากขึ้นก็ยิ่งเสี่ยงปะทะกับเศษซากอันตราย รวมถึงวงแหวนที่อาจจะมีในระบบอันซับซ้อนของดาวเคราะห์แคระได้

สำหรับยานนิวฮอไรซอนส์นั้น ถูกส่งขึ้นไปจากฐานปล่อยจรวดในสถานีกองทัพอากาศคานาเวอรัล (Cape Canaveral Air Force Station) ในฟลอริดา สหรัฐฯ โดยติดขึ้นไปบนรวดแอตลาส (Atlas) เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2006 และคำนวณว่า ยานอวกาศจะไปถึงพลูโตในวันที่ 14 ก.ค.2015 และจะเป็นปฏิบัติการสำรวจแรกในแถบไคเปอร์ ซึ่งเป็นบริเวณด้านนอกวงโคจรของดาวเนปจูนที่มีเศษน้ำแข็งจำนวนมากที่เหลือจากกำเนิดระบบสุริยะ








กำลังโหลดความคิดเห็น