นักวิทยาศาสตร์ประกาศผลการศึกษาจากภาพถ่ายกล้อง “ฮับเบิล” พบดวงจันทร์ดวงที่ 5 ของ “พลูโต” อดีตสมาชิกดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ระหว่างจับตาดูดวงจันทร์ดวงที่ 4 ของ “ดาวเคราะห์แคระ” ด้านเว็บไซต์อวกาศชื่อดังตั้งโหวตว่าจะให้พลูโตคืนสมาชิกภาพเป็น “ดาวเคราะห์” หรือไม่
ข่าวการค้นพบดวงจันทร์ดวงที่ 5 ของพลูโต (Pluto) อดีตดาวเคราะห์ของระบบสุริยะที่ถูกปรับลดให้เป็นเพียง ดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) นี้ สเปซด็อทคอมระบุว่า เป็นการค้นพบระหว่างที่นักวิจัยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) เฝ้าจับตาดูดวงจันทร์ดวงที่ 4 ของพลูโตที่เรียกว่า “พี4” (P4)
“แค่อยากประกาศว่า พลูโตมีสมาชิกใหม่ เราได้พบดวงจันทร์ดวงที่ 5 จากการศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล” อลัน สเติร์น (Alan Stern) จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ (Southwest Research Institute) ในโบลดอร์ โคโลราโด สหรัฐฯ ประกาศผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 11 ก.ค.
สเติร์นยังเป็นผู้ตรวจการหลักของยานอวกาศนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) ของนาซา ซึ่งมีกำลังส่งไปศึกษาพลูโตในปี 2015 และจะเป็นปฏิบัติการแรกในการไปเยือนดาวเคราะห์แคระ
ดวงจันทร์ 4 ดวงของพลูโต ได้แก่ ชารอน (Charon) นิกซ์ (Nix) ไฮดรา (Hydra) และพี 4 ซึ่งชารอนเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดของพลูโต โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1,043 กิโลเมตร นิกซ์และไฮดรามีความกว้างอยู่ในช่วง 32-113 กิโลเมตร ส่วนพี4 นั้นคาดว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลาง 13-34 กิโลเมตร
สำหรับดวงจันทร์ใหม่นั้นดูคล้ายกับดวงจันทร์พี4 มากกว่าดวงจันทร์ชารอน ซึ่งสเติร์นบอกทางสเปซด็อทคอมว่า ดวงจันทร์ดวงใหม่นี้มีขนาดเล็กกว่า พี4 และบอกด้วยว่าทีมวิจัยกำลังค้นพบดวงจันทร์เพิ่มขึ้นๆ ซึ่งหมายถึงอันตรายที่ยานนิวฮอไรซอนส์จะเผชิญการปะทะจากดวงจันทร์เหล่านั้นมากขึ้นด้วย เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้ายานดังกล่าวจะท่องอวกาศมุ่งหน้าสู่พลูโต
จันทร์ดวงใหม่ของพลูโตได้รับการตั้งชื่อตามการค้นหาว่า S/2012 (134340) แต่ก็มีชื่อเล่นว่า พี5 (P5) โดยการค้นพบครั้งเป็นผลจากชุดสังเกตการณ์ระหว่างปลายเดือน มิ.ย.-ต้นเดือน ก.ค. ของกล้องไวด์ฟิล์ด 3 (Wide Field Camera 3) ที่ติดตั้งบนกล้องฮับเบิล
รูปร่างของพี 5 นั้นค่อนข้างขรุขระ และมีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 10-24 กิโลเมตร และเคลื่อนไปรอบๆ พลูโตที่ระยะทางเฉลี่ย 47,000 กิโลเมตร ในวงโคจรที่เชื่อว่าอยู่ในระนาบเดียวกับดวงจันทร์ดวงอื่นๆ ของดาวเคราะห์แคระ ซึ่ง มาร์ก โชวัลเตอร์ (Mark Showalter) หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันเซติ (SETI Institute) ซึ่งร่วมแถลงการค้นพบครั้งนี้ บอกว่าลักษณะดวงจันทร์ของพลูโตนั้นเหมือนตุ๊กตารัสเซีย (Russian dolls) ที่จะเจอตุ๊กตาตัวเล็กอยู่ภายในทุกครั้งที่เปิดตุ๊กตาออก
ย้อนประวัติกลับไปดวงจันทร์ชารอนถูกพบครั้งแรกในปี 1978 ซึ่งห่างจากการค้นพบพลูโต 48 ปี จากนั้นกล้องฮับเบิลก็ช่วยให้พบดวงจันทร์นิกซ์และไฮดราในปี 2005 ส่วนพี 4 นั้นมีการประกาศการค้นพบเมื่อเดือน ก.ค.2011
ทั้งนี้ พลูโตโคจรรอบดวงอาทิตย์ที่ระยะห่างประมาณ 5.87 พันล้านกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ 39 เท่า และเป็นเวลากว่า 75 ปีหลังการค้นพบพลูโตได้รับการรับรองว่าเป็นดาวเคราะห์ แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในปี 2006 เมื่อสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) หรือไอเอยู (IAU) ได้ปรับลดระดับให้พลูโตเป็นเพียงดาวเคราะห์แคระ เนื่องจากมีวงโคจรร่วมกับวัตถุอื่นๆ อีกมากในแถบดาวเคราะห์น้อยไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งเป็นแถบวงแหวนน้ำแข็งนอกวงโคจรของดาวเนปจูน
ด้าน ฮาโรล์ด เวฟเวอร์ (Harold Weaver) สมาชิกทีมยานนิวฮอไรซอนส์ จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอห์นสฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) กล่าวว่าการค้นพบดวงจันทร์เล็กๆ จำนวนมากนี้ เป็นการบอกอ้อมๆ ว่าอาจจะมีอนุภาคขนาดเล็กซุกซ่อนอยู่ในระบบของพลูโต ทำให้ทีมต้องกลับมาพิจารณาแผนการส่งยานใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าการสำรวจระบบดาวเคราะห์อันซับซ้อนที่ใกล้เข้ามานี้จะเป็นไปอย่างปลอดภัย
จากข่าวการค้นพบดวงจันทร์ดวงใหม่ของพลูโตนี้ทางเว็บไซต์สเปซด็อทคอมก็จัดโพลออนไลน์เพื่อให้ผู้อ่านร่วมแสดงความคิดเห็นว่า จะให้พลูโตยังคงเป็นดาวเคราะห์แคระต่อไป หรือจะปรับให้เป็นดาวเคราะห์เต็มตัว หรือยังไม่แน่ใจ ต้องการเวลาเพื่อดูให้แน่ใจอีกหน่อย
หลังมีผู้ร่วมโหวตกว่า 1,600 คน มีคนเห็นด้วยเกิน 60% ที่จะให้พลูโตปรับสถานะเป็นดาวเคราะห์ และยังคงเปิดรับความคิดเห็น โดยร่วมโหวตได้ที่ http://www.space.com/16534-poll-pluto-dwarf-planet-status.html