แม้ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่เราไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างอย่างยั่งยืน เห็นได้ชัดในการบริหารจัดการน้ำที่เราเผชิญทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ต่างจากอิสราเอลที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด แต่สามารถพลิกผืนทรายให้มีน้ำใช้ได้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเรื่องการจัดการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนน้อยมาก และไทยต้องสูญเสียเงินมากกว่าปีละ 80,000-90,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม แต่หากลงทุนวิจัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยเงินเพียง 1,000 ล้านบาท ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับตัวเลขความเสียหาย
ผอ.สวทช.บอกว่าด้วยเหตุดังกล่าว การจัดสัมมนาวิชาการประจำปี ไทย-อิสราเอล ครั้งที่ 3 ประจำปี 2554 (The 3rd Thai-lsraeli Science and Technology Cooperation Conference 2011) โดยความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จึงเน้นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานวิจัยและพัฒนา และยังมีนักวิจัยอิสราเอลมาบรรยายถึงกรณีศึกษาระบบชลประทานในทะเลทรายด้วย
“ทำไมต้องร่วมมือกับอิสราเอล? เพราะอิสราเอลเป็นประเทศเล็ก พัฒนาประเทศจากพื้นดินที่มีแต่ทะเลทราย ประเทศมีแต่น้ำเค็ม แต่ได้นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปบริการจัดการ และยังให้ความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้แก่คนในชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันไทยซึ่งมีทรัพยากรพร้อม กลับไม่สามารถจัดการน้ำอย่างได้ยั่งยืน ปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแห้งแล้งยังมีอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้และนำแนวคิดบริหารจัดการทรัพยากรของอิสราเอลมาใช้ น่าจะเป็นทางออกให้แก่ไทยได้” ผอ.สวทช.บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
นอกจากการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำแล้ว ดร. ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ภายในงานยังมีอีกหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ทั้งการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาด (Green Energy) เทคโนโลยีทางการเกษตรก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว (Pre & Post Harvest Technologies) รวมถึง การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้านการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Productivity improvement on Agriculture and Aquaculture) เป็นต้น
ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมสัมมนาวิชาการกับอิสราเอลมาตั้งแต่ปี 2552 และจากความร่วมมือดังกล่าว ดร.ทวีศักดิ์กล่าวว่าทำให้ยอดการส่งออกของไทยไปยังประเทศอิสราเอล จากปี พ.ศ.2552-2553 มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 10% และคาดว่ายอดการส่งออกจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักวิจัยไทยและอิสราเอลยังได้ร่วมวิจัยและพัฒนายาเพื่อแก้ปัญหามาลาเรียดื้อยาในเมืองไทย และปัญหาโรคอุบัติใหม่ ซึ่งคาดว่าอีก 5-10 ปี ผลการวิจัยน่าจะออกมาเป็นรูปธรรม
สำหรับการสัมมนาระหว่างไทย-อิสราเอลในปีที่ 3 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 พ.ค.54 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา บางรัก โดยมีนักวิจัยของไทยและอิสราเอลทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกกว่า 200 คน