xs
xsm
sm
md
lg

พบผู้ป่วยโรคมาลาเรียแนวชายแดนเมืองจันท์แล้วกว่า 100 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - จังหวัดจันทบุรี พบผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ระบาดในพื้นที่ตามแนวชายแดน หลังพบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว 136 ราย ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกำชับให้ 30 จังหวัดชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน ระวังโรคมาลาเรีย

นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยหลังจากเดินทางมาเปิดงานพระปกเกล้าวิชาการ ครั้งที่ 9 พระปกเกล้าสร้างเสริมสุขภาพสู่ชุมชน ว่า โรคมาลาเรียยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนของประเทศไทย ที่มีบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง

จังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคมาลาเรียส่วนใหญ่ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ระนอง กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และชุมพร โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งประเทศไทยมีจังหวัดชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 30 จังหวัด ได้แก่ ชายแดนไทย-ลาว 11 จังหวัด ไทย-พม่า 10 จังหวัด ไทย-กัมพูชา 7 จังหวัด และไทย-มาเลเซีย 4 จังหวัด

ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 พฤษภาคม 2554 พบผู้ป่วยโรคมาลาเรียแล้ว 4204 ราย จาก 64 จังหวัด เสียชีวิต 2 ราย มากที่สุดสัญชาติไทยร้อยละ 64 รองลงมาพม่าร้อยละ 21 โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคมาลาเรียมากที่สุดในประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก 1962 ราย แม่ฮ่องสอน 222 ราย ระยอง 276 ราย กาญจนบุรี 211 ราย ยะลา 180 ราย ชุมพร 177 ราย จันทบุรี 136 ราย ราชบุรี 114 ราย พังงา 111 ราย และสุราษฎร์ธานี 93 ราย

นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต กล่าวอีกว่า ทั่วโลกจะมีการระบาดของโรคไข้มาลาเรียสูงสุด ประมาณช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยในเดือนเมษายน-กรกฎาคม ปี 2553 พบผู้ป่วย 14,199 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 ของผู้ป่วยมาลาเรียตลอดปี เฉพาะเดือนมิถุนายน พบผู้ป่วยมากถึง 5,359 ราย

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงใน 30 จังหวัด ให้ความรู้กับประชาชนให้นอนกางมุ้งในเวลากลางคืนและป้องกันไม่ให้ยุงกัด หากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง อยู่ในป่าเขา ให้ใช้มุ้งชุบสารเคมีที่นิยม คือ ไพรีทรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายภายใน 2 วินาที ไม่เป็นอันตรายต่อคนและที่สำคัญเมื่อป่วยต้องรีบมาพบแพทย์ และขอให้กินยาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องเชื้อดื้อยา

นอกจากนี้ ในการรักษา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้จัดบริการเชิงรุก โดยตั้งศูนย์มาลาเรีย หรือ มาลาเรียคลินิกตรวจเชื้อและรักษาฟรีผู้ป่วยในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ จำนวน 800 แห่งในพื้นที่ 30 จังหวัดตามแนวชายแดน ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เน้นการรักษาที่รวดเร็ว ช่วยลดความรุนแรงโรคและอัตราการเสียชีวิต รวมทั้งลดจำนวนแหล่งแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด โดยให้บริการทั้งคนไทยและต่างชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น