xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคจับตาแม่สอด-ตราด-ระนอง พื้นที่เสี่ยง “มาลาเรีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมควบคุมโรค จับตา อ.แม่สอด จ.ตาก บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จ.ตราด และบริเวณชายแดนไทย-พม่า จ.ระนอง เป็นพื้นที่เสี่ยงเชื้อ “มาลาเรีย” หลังพบมีทั่วโลกสังเวยชีวิตคนติดปีละ 1 ล้านคน ขณะที่ไทยพบป่วยเกือบ 1.9 หมื่นราย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการอบรมมาลาเรียนานาชาติ หลักสูตรการป้องกันและควบคุมไข้มาลาเรียสำหรับบุคลากรจากประเทศในภูมิภาคแอฟริกาว่า สถานการณ์ของผู้ป่วยมาลาเรียในประเทศไทยนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2553-ธ.ค.2553 มีทั้งหมด 45,629 ราย เป็นชาวไทย 18,371 ราย และชาวต่างชาติ 27,257 ราย โดยมีจำนวนผู้ป่วยชาวไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 6.1 ขณะที่ผู้ป่วยชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.26 ทั้งนี้ ปัญหาของโรคมาลาเรียเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งขณะนี้มีประชาชนทั่วโลกติดเชื้อมาลาเรียรวมประมาณ 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 1 ล้านคน โดยร้อยละ 90 เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา และส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องประกาศไข้มาลาเรียเป็น 1 ใน 4 โรคที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นอกเหนือจากเอดส์ ไข้เลือดออก และวัณโรค ดังนั้น ทางกรมควบคุมโรคจึงจัดให้มีโครงการอบรมมาลาเรียนานาชาติหลักสูตรการป้องกันและควบคุมไข้มาลาเรียสำหรับบุคลากรจากประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. - 4 มี.ค.ให้กับแพทย์ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จาก 8 ประเทศของแอฟริกา เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน และควบคุมโรคดังกล่าว

ด้าน นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีเป้าหมายให้ประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่ปลอดโรคมาลาเรีย 80% ภายในปี 2562 จากที่ขณะนี้มีพื้นที่ปลอดโรมาลาเรีย 60% ซึ่งในปี 2553 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียประมาณ 50-70 คน ส่วนมากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ระบบการสาธารณสุขเข้าไม่ถึง ซึ่งจำนวนดังกล่าวยังไม่ยืนยัน โดยขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิสูจน์ว่าเป็นการเสียชีวิตจากโรคมาลาเรียจริงหรือไม่

“ทั้งนี้ สถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทยแม้จะไม่ค่อยน่าห่วง แต่ก็ยังคงมีพื้นที่ที่จะต้องจับตามองอยู่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สำรวจพบว่ามีเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยา คือ พื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จ.ตราด และบริเวณชายแดนไทย-พม่า จ.ระนอง ซึ่งทางกรมควบคุมโรคจะมีการดำเนินการอย่างจริงเพื่อไม่ให้เชื้อดื้อยากระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ สอดคล้องกับทางองค์การอนามัยโลกที่มีความเป็นห่วงในเรื่องการดื้อยาเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2554 ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นปีควบคุมเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยาควบคุม” นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการป้องกันโรคนี้ทางกรมควบคุมโรคยังได้มีการตั้งมาลาเรียโฮสต์ ซึ่งจะเป็นการอบรมชาวเพื่อเป็นอาสาสมัครในการดำเนินการตามโครงการนี้ ประมาณ 460 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ชาวบ้านออกไปให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้กับชาวบ้านด้วยกันเอง โดยได้เริ่มดำเนินการมาประมาณ 8 ปีแล้ว ซึ่งพบว่าได้ผลเป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น