xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รพ.ศิริราช ให้การต้อนรับแพทย์ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 พร้อมให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไทย ก่อนเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันพรุ่งนี้

ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 จำนวน 5 คน ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาการแพทย์ 2 คน ประกอบด้วย ศ.นพ.นิโคลัส เจ.ไวต์ และ ศ.นพ.เควิน มาร์ช จากสหราชอาณาจักร สาขาสาธารณสุข 3 คน คือ ศ.นพ.อนันดา เอส.ประสาด ศ.นพ.เคนเนท เอช.บราวน์ และ ศ.นพ.โรเบิร์ต อี.แบล็ก จากสหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เดินทางเข้าสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยมีนักศึกษาตั้งแถวต้อนรับ และบรรเลงเพลงประจำชาติของผู้ได้รับพระราชทานรางวัล จากนั้นเดินทางไปยังศาลาศิริราช 100 ปี เพื่อลงนามถวายพระพร และนำแจกันดอกไม้ทูลเกล้าฯ ถวายหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ และเข้าเยี่ยมชมห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ที่ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 จากนั้นเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์

ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 26 มกราคม 2554 เวลา 17.30 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานรางวัลฯ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จากนั้นเวลา 20.00 น.พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล พร้อมคู่สมรสในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

สำหรับประวัติผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.นพ.นิโคลัส เจ.ไวต ได้ทุ่มเทตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี ศึกษาค้นคว้าวิธีรักษาโรคมาลาเรีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเขตระบาดของโรคมาลาเรียที่มีการดื้อยาอย่างมาก โดยมุ่งเน้นการใช้ยาสูตรผสมซึ่งมีตัวยากลุ่มอาเทมิซินิน (artemisinin) ที่ประกอบด้วย ยาสองชนิดในเม็ดเดียวกันมีประสิทธิภาพสูง ทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยลดลงอย่างเด่นชัด และสามารถป้องกันการดื้อยาได้ดี มีผลต่อการรักษาและควบคุมการระบาดของโรคมาลาเรียได้ทั่วโลก ส่วน ศ.นพ.เควิน มาร์ช มีบทบาทสำคัญในการศึกษาด้านระบาดวิทยาภูมิคุ้มกันของโรคมาลาเรีย ปฏิบัติการส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา โดยศึกษาวิจัยการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะแอนติเจนของเชื้อมาลาเรีย พบว่า หลังจากที่มีการติดเชื้อมาลาเรียแล้วเชื้อยังมีการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ต่อไปได้อีก เป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาและพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงความหลากหลายของสายพันธุ์ของเชื้อด้วย

สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.อนันดา เอส. ประสาด เป็นบุคคลแรกที่พบความสำคัญของธาตุสังกะสีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย การขาดธาตุสังกะสีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเนื่องจากร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง ศ.นพ.เคนเนท เอช. บราวน์ ศึกษาพบว่าการให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็กสามารถช่วยลดความรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงและโรคปอดบวมซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ส่วน ศ.นพ.โรเบิร์ท อี.แบล็ก เป็นผู้บุกเบิกการเสริมธาตุสังกะสีในโภชนาการเพื่อลดความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของเด็ก นอกจากนี้ ยังมีบทบาทระดับโลกในการส่งเสริมและผลักดันด้านนโยบายเกี่ยวกับการให้ธาตุสังกะสีเสริม ซึ่งมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง ส่งผลในการลดอัตราการตายของเด็ก และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กทั่วโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น