สธ.เผยสาเหตุการเสียชีวิตเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี อันดับ 1 เกิดจากการจมน้ำ พบเฉลี่ยปีละเกือบ 1,500 ราย สูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร โรคไข้เลือดออก เร่งป้องกันโดยการจัดอบรมครูฝึกสอนทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด พร้อมขยายผลสู่หน่วยงานท้องถิ่น ตั้งเป้าภายใน 10 ปี เด็กที่อายุ 6 ปีขึ้นไป ต้องว่ายน้ำเป็นครบ 100เปอร์เซ็นต์
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดประชุมผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ภาคีเครือข่ายท้องถิ่น ชุมชน เพื่อขยายผลวัคซีนป้องกันเด็กจมน้ำ โดยผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สถานศึกษา นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข และภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อขยายความร่วมมือการป้องกันการเสียชีวิตของเด็กไทยจากการจมน้ำอย่างจริงจัง
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี การจมน้ำเป็นสาเหตุเสียชีวิตอันดับ 1 เฉลี่ยปีละประมาณ 1,500 คน หรือวันละ 4 คน มากกว่าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 2 เท่าตัว และมากกว่าโรคไข้เลือดออก 24 เท่าตัว โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมและฤดูร้อนตั้งแต่ เดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ถือว่าเป็นช่วงอันตรายสูงสุด เนื่องจากสถิติทุกปีเฉพาะ 3 เดือนนี้ มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึงเกือบ 500 คน สูงที่สุดในเดือนเมษายนจำนวน 184 คน เฉลี่ยวันละ 6 คน พบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งป้องกัน เพื่อลดการเสียชีวิตของเด็กไทย มาตรการหนึ่งที่สำคัญ คือการสอนให้เด็กมีทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เปรียบเสมือนการให้วัคซีน ซึ่งจะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต โดยหลังจากการประชุม กระทรวงสาธารณสุขจะเปิดอบรมครูสอนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด (ครู ก) โดยหน่วยงานท้องถิ่นที่สนใจ ส่งบุคลากรในพื้นที่เข้าอบรมเพื่อให้สามารถนำไปขยายผลให้เด็กในพื้นที่ ตั้งเป้าภายใน 10 ปี เด็กที่อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ต้องได้รับวัคซีนป้องกันเด็กจมน้ำครบ 100 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ และจะจัดประกวดท้องถิ่นที่สามารถขยายผลให้เด็กในพื้นที่ได้รับวัคซีนป้องกันเด็กจมน้ำครบ 100 เปอร์เซ็นต์ด้วย
ด้านนายแพทย์ นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ทดลองโครงการให้วัคซีนป้องกันเด็กจมน้ำเมื่อปี 2552 ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สุรินทร์ เพชรบูรณ์ และนครศรีธรรมราช พบว่า เด็กที่เรียนทักษะเอาชีวิตในน้ำ สามารถลอยตัวในน้ำ ได้นานถึง 4 ชั่วโมง ทำให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำลดลงชัดเจน โดยในปี 2553 มีจำนวน 1,138 คน ตั้งเป้าว่าภายในปี 2557 จะลดการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำให้น้อยกว่า 650 คนต่อปี