“อู๊ดด้า” ย้ำเตือนผู้ปกครอง ระวังเด็กจมน้ำตายช่วงปิดเทอม เผยขณะนี้สถิติการจมน้ำตายของเด็กติดอันดับท็อปเท็นของการตายทั่วโลก ข้อมูลล่าสุดปี 2553 มีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีจมน้ำตายกว่า 1,000 คน เมษายนเดือนเดียวตายเกือบ 200 คน ชี้หากไม่แก้ไข คาดอีก 9 ปีข้างหน้า ยอดตายจะพุ่งใกล้ 20,000 คน เร่งรณรงค์ป้องกัน ฝึกเด็กไทยให้ว่ายน้ำเป็น ตั้งเป้าภายใน 2557 จะลดจำนวนเด็กจมน้ำตายให้เหลือน้อยกว่า 650 คน ระบุขณะนี้เด็กไทยกว่าร้อยละ 80 หรือ 11 ล้านคน ว่ายน้ำไม่เป็น
วันนี้ (9 มี.ค.) ที่สวนสัตว์ดุสิต กทม. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งในปีนี้เน้นประเด็นเด็กทั่วไทย ปลอดภัย ไม่จมน้ำ ว่าปัญหาการเสียชีวิตของเด็กจากเหตุจมน้ำ ขณะนี้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลก เป็นภัยเงียบที่สำคัญในกลุ่มเด็ก องค์การอนามัยโลกรายงานมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำปีละ 135,585 คน เฉลี่ยวันละ 372 คน เกือบ 1 ใน 4 อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสียชีวิตปีละ 32,744 คน เฉลี่ยวันละ 90 คน
ข้อมูลในไทยพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มากกว่าอุบัติเหตุจราจร 2 เท่าตัว และมากกว่าโรคไข้เลือดออก 24 เท่าตัว ล่าสุดในปี 2553 มีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำรวม 1,138 คน เฉพาะในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว มีเด็กเสียชีวิตถึง 184 คน เฉลี่ยวันละ 6 คน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด รองลงมา คือภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ หากไม่เร่งแก้ไข คาดว่าใน พ.ศ. 2563 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า ยอดการเสียชีวิตจากการจมน้ำจะพุ่งถึง 16,696 คน โดยผลสำรวจล่าสุดในปี 2550 จากเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีที่มีประมาณ 13 ล้านคน พบว่าว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 16 หรือประมาณ 2 ล้านคน ที่เหลืออีก 11 ล้านคนว่ายน้ำไม่เป็น และมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงหากตกน้ำหรือลงไปเล่นน้ำ จึงขอให้ผู้ปกครองระมัดระวังเด็กให้ดี โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน เพราะเด็กๆ ชอบพากันไปเล่นน้ำ
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปีนี้มีนโยบายให้ 15 จังหวัด พัฒนารูปแบบการป้องกันเด็กจมน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ชลบุรี อ่างทอง ระยอง ฉะเชิงเทรา สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ราชบุรี และสมุทรสาคร และจะจัดประชุมระดมผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารโรงเรียนเพื่อร่วมฝึกสอนเด็กให้ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด โดยฝึกการลอยตัวในน้ำเพื่อพยุงตัวหากพลัดตกน้ำ รวมทั้งฝึกการช่วยชีวิตคนตกน้ำให้ถูกวิธี ในปลายเดือนนี้ ซึ่งจากการการศึกษาในต่างประเทศพบว่าเด็กที่สามารถว่ายน้ำเป็น จะมีทักษะเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำมากกว่าเด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็นถึง 4 เท่าตัว ตั้งเป้าภายในปี 2557 จะลดจำนวนเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำให้น้อยกว่า 650 คน
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กที่จมน้ำตายมักเกิดพร้อมกันครั้งละหลายคน เนื่องจากไม่รู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง จึงมักกระโดดลงไปช่วยคนที่ตกน้ำเอง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มักจะจมน้ำในแหล่งน้ำภายในบ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง บ่อน้ำ แอ่งน้ำ เนื่องจากการทรงตัวของเด็กไม่ดี เพราะศีรษะเด็กวัยนี้จะใหญ่ มีน้ำหนักมาก ทำให้ล้มในท่าศีรษะทิ่มลงได้ง่าย ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ซุกซน มักออกไปเล่นน้ำนอกบ้าน แหล่งน้ำที่เด็กจมน้ำสูงสุด คือแหล่งน้ำธรรมชาติร้อยละ 50 รองลงมา คือสระว่ายน้ำร้อยละ 5 และอ่างอาบน้ำร้อยละ 3 โดยหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มดำเนินการป้องกันเด็กจมน้ำตั้งแต่ปลายปี 2549 และกำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี เป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2553 พบว่าเด็กตายจากการจมน้ำลดลง
สำหรับกิจกรรมรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำในวันนี้ ประกอบด้วย การแข่งขันการเอาชีวิตรอดในน้ำ ทั้งประเภทบุคคลและทีมอายุ 6-14 ปี โดยประเภททีมจะมีการแสดงทักษะครบทั้ง 4 ทักษะ ได้แก่ การลอยตัวเปล่า การลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย การช่วยคนตกน้ำโดยการโยนและยื่นอุปกรณ์ช่วย ส่วนประเภทบุคคล จะแข่งขันการลอยตัวเปล่าในน้ำนาน 4 ชั่วโมง ผู้ชนะจะได้รับโล่รางวัลพร้อมเงินทุนการศึกษารวมทั้งหมด 36,000 บาท หน่วยงานที่ส่งเด็กเข้าแข่งจะได้รับสระว่ายน้ำเคลื่อนที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร มูลค่า 50,000 บาท จำนวน 1 สระ ผู้ชนะเลิศประเภททีม จะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาท และสระว่ายน้ำเคลื่อนที่แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 4 × 9 × 1.2 เมตร มูลค่า 150,000 บาท จำนวน 1 สระ