xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! เด็กไทยเสี่ยงถูกล่อลวง-ข่มขู่-รีดไถ-อุบัติเหตุ พบมีเด็กหาย 15 คนต่อวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สสส.ผนึกภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม “ปิดเทอม สร้างสรรค์” เผยสถานการณ์ปิดเทอม เด็กไทยต้องเผชิญสารพัดความเสี่ยง “ล่อลวง-ข่มขู่-รีดไถ-อุบัติเหตุ” อึ้ง! พบเด็กหาย 15 คน/วัน เปิด 32 กิจกรรมสร้างสรรค์ “สื่อเด็กแนว-ค่ายอาสา-กีฬา-พัฒนาอาชีพ” หมอเด็ก หนุน พ่อแม่ ชุมชน สังคม ขยายกิจกรรมวันเด็ก ไม่ทำวันเดียว แต่ทำทั้งปิดเทอม

วันนี้ (23 มี.ค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก จัดกิจกรรมรณรงค์ “ปิดเทอม สร้างสรรค์” เพื่อสนับสนุนให้เด็ก เยาวชนใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมอย่างสร้างสรรค์

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า สสส.และภาคีเครือข่าย เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมเพื่อรองรับการใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผลการสำรวจเอแบคโพลล์ ในปี 2548 และ 2551 พบ ช่วงปิดเทอมเด็กและเยาวชน 84.9% ใช้เวลาไปกับการช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า อีก 67.3% ดูโทรทัศน์/วิดีโอ ขณะที่ 62.1% เล่นอินเทอร์เน็ต และ 52.2% เล่นเกมคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น เมื่อสำรวจกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ ที่เยาวชนทำในช่วงปิดเทอม อันดับแรก 53.8% ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูภาพโป๊ เปลือย อีก 41.5% ดูวิดีโอ ดีวีดี ที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ 29.1% มีเพศสัมพันธ์กับแฟน/คู่รัก และ 18.3% ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ ทั้งนี้ ในช่วงปิดเทอม เด็กและวัยรุ่นนิยมเข้าไปใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ซึ่งมักพบปัญหา ถูกข่มขู่ รีดไถมากที่สุด รองลงมาถูกทำร้ายร่างกาย ตบ ตี ชก ต่อย, เป็นหนี้ร้านอินเทอร์เน็ต, ถูกลวนลามทางเพศ พยายามข่มขืน, บังคับให้สูบบุหรี่ ตามลำดับ

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ จำนวนเด็กหายออกจากบ้านมากขึ้น จากสถิติศูนย์เฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี มูลนิธิกระจกเงา พบช่วงต้นปี 2553 เด็กหายถึง 70 คน โดย 90% เป็นเด็กผู้หญิง และจากสถิติที่ศูนย์เฝ้าระวังฯ รับแจ้งคนหายผ่านทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในปี 2552 เฉลี่ยวันละ 10-15 ราย โดย 80% ติดตามกลับมาได้ และอีก 1% เสียชีวิต โดยเด็กที่หายไปส่วนใหญ่เป็นหญิงอายุ 11-15 ปี สอดคล้องกับข้อมูลการเสียชีวิตของเด็กในกลุ่ม 1-14 ปี เฉลี่ยเดือนละ 280 คน แต่กลับพบว่า ในช่วงปิดเทอม คือ เดือนเมษายน เสียชีวิตมากที่สุด 400 คน รองลงมาคือ มีนาคม พฤษภาคม และตุลาคม โดยอันดับ 1 คือ การจมน้ำเสียชีวิต 47% คิดเป็น 5-6 คน/วัน ในช่วงปิดเทอม รองลงมาคือ อุบัติเหตุอื่นๆ และอันดับ 3 คือ อุบัติเหตุทางจราจร” ทพ.กฤษดา กล่าว

ทพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า ผลสำรวจวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชน พบ ส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างพื้นที่กิจกรรมมากขึ้น อันดับ 1 คือ ลานกีฬา 38% อันดับ 2 ลานสาธารณะ/ลานพักผ่อน 26% และอันดับ 3 ลานดนตรี ศิลปวัฒนธรรม 26% ดังนั้น สสส.จึงได้รวบรวม 32 กิจกรรม แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ 1.สนุกสุดมันส์กับกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ อบรมจัดทำหนังสั้น ผลิตเพลงและมิวสิกวิดีโอ ดนตรี ละคร ศิลปะ 2.แค่ขยับเท่ากับเริ่มออกกำลังกาย อาทิ อบรมสอนว่ายน้ำ กิจกรรมเดิน-วิ่ง 3.ฝึกทักษะสร้างอาชีพ 4.อบรมกิจกรรมเสริมปัญญา และ 5.ค่ายอาสาสร้างสุข อาทิ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทาง www.happyschoolbreak.com อย่างไรก็ตาม สสส.และเครือข่าย หวังว่า จะจุดประกายให้ครอบครัวเกิดความตื่นตัว เอาใจใส่ และจัดกิจกรรมที่เหมาะสมในช่วงปิดเทอมให้เด็ก รวมทั้งหวังจะกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐมีนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาทิ เปิดห้องสมุดในโรงเรียนช่วงปิดเทอม ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน ให้นำเรื่องของปิดเทอมสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในมาตรการด้านสังคม (CSR) ขององค์กรด้วย

ขณะที่นพ.สุริยเดว ทรีปาตรี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. กล่าวว่า ปิดเทอม 1 ครั้ง เด็กน้ำหนักตัวขึ้น 3-4 กิโลกรัม เพราะเด็ก 70-80% ใช้เวลาดูทีวี เล่นเกมส์ กินอาหารไม่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเด็กในเขตเมือง เนื่องจากเด็กไม่ทำกิจกรรม ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้ง อ้วน สายตาสั้นเทียม ฟันผุ ลดทอนพัฒนาการ ติดเกมส์ นำไปสู่ความก้าวร้าว กิจกรรมสันทนาการที่มีประโยชน์จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ดังนั้นพ่อ แม่ ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก สลับสับเปลี่ยนกันทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยมี 6 ฐานกิจกรรมสำคัญ คือ 1.ดนตรี ดูหนัง ฟังเพลง 2.ศิลปะ วาดภาพ สร้างงานศิลปะ 3.สร้างปัญญา เช่น เที่ยวพิพิธภัณฑ์ เกมที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ 4.จิตวิญญาณ เช่น การเที่ยววัด ให้เด็กได้เป็นมัคคุเทศก์น้อยในชุมชน 5.พลังกาย เพิ่มการออกำลังกาย ผจญภัย ท่องเที่ยว 6.ฟรีเพลย์ คือ ทำสิ่งที่ชอบ โดยกิจกรรมเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะได้ทุกวัย

การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ในช่วงปิดเทอมนอกจากครอบครัวแล้ว ชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมได้ รวมถึงคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัด ต้องช่วยกันสร้างเสริม พัฒนา ป้องกันเด็กไปพร้อมๆ กัน เพราะจะช่วยลดความเสี่ยง ทั้งอุบัติเหตุ ยาเสพติด การทะเลาะวิวาท การติดเกมส์ได้ ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ ที่จัดกิจกรรมวันเด็ก อาจพิจารณาขยายกิจกรรม “ไม่ทำเพื่อเด็กวันเดียว” คือ ขยายกิจกรรมเพื่อเด็กจาก 1 วัน สลับสับเปลี่ยนกันทำทั้งช่วงปิดเทอมแทนจะได้ประโยชน์อย่างมาก” นพ.สุริยเดว กล่าว

นางกีรติกา แพงลาด พ่อแม่อาสาเครือข่าย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้ลูกๆ ทำกิจกรรมในช่วงปิดเทอมมาโดยตลอด ซึ่งลูกเลือกกิจกรรมเอง ทั้งนี้กิจกรรมช่วงปิดเทอมเป็นประโยชน์มาก เพราะเด็กจะไม่เสียเวลาไปกับการเล่นเกมส์ที่ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้พื้นที่สีขาว ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กน้อยลง แต่พื้นที่แหล่งอบายมุขมากขึ้น และวัยรุ่นมักตามกระแส ทำอะไรตามเพื่อน ดังนั้นผู้ปกครองควรเอาใจใส่มีเวลาให้ลูกมากขึ้น โดยกิจกรรมที่อยากแนะนำ คือ ดนตรี กีฬา ศิลปะ เหมาะที่จะให้ลูกๆ มาเรียนรู้ในช่วงปิดภาคเรียน เพราะจะช่วยพัฒนาทางด้านอารมณ์ ทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนได้เรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง ส่วนการให้ลูกๆ ทำกิจกรรมทางวิชาการอย่างเดียวนั้นเด็กอาจจะขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและจะอยู่กับโลกที่มีการแข่งขันกัน

ด.ญ.ชลาลัย โตสอาด อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดดวงแข กรุงเทพฯ กล่าวว่า ช่วงปิดเทอมไม่ได้ไปเรียนพิเศษที่ไหนก็จะไปเล่นหมากเก็บกับน้องๆ เพื่อนๆ แถวบ้าน บางวันก็จะชวนกันไปว่ายน้ำกันเป็นการออกกำลังกายเพราะปกติจะชอบว่ายน้ำอยู่แล้ว ซึ่งปิดเทอมครั้งนี้ หากมีสถานที่ที่เหมาะสม ตนก็อยากชวนเพื่อนๆ ไปร่วม ส่วนเพื่อนๆ ที่ติดเกม ติดคอมพิวเตอร์หรือไม่ได้ทำกิจกรรม อยากให้มาทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กันดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น