xs
xsm
sm
md
lg

ชู 5 แพทย์เจ้าของรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลปราบ ‘มาลาเรีย’-‘โรคติดเชื้อในเด็ก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2553 ในปีที่ 18 มีการส่งชื่อแพทย์และนักวิจัยด้านสาธารณสุขเข้าชิงรางวัลอันทรงเกียรตินี้รวม 72 รายชื่อ จาก 31 ประเทศ ซึ่งมีศาสตราจารย์ 5 ท่านที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาการแพทย์และสาขาสาธารณสุข ประกอบด้วย ศ.นพ.นิโคลัส เจ.ไวต์ และ ศ.นพ.เควิน มาร์ช จากสหราชอาณาจักร สาขาสาธารณสุข 3 คน คือ ศ.นพ.อนันดา เอส.ประสาด ศ.นพ.เคนเนท เอช.บราวน์ และ ศ.นพ.โรเบิร์ต อี.แบล็ก จากสหรัฐอเมริกา

(จากซ้ายไปขวา) ศ.คลินิค นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ, ศ.นพ.นิโคลัส เจ.ไวต์, ศ.นพ.เควิน มาร์ช, ศ.นพ.อนันดา เอส.ประสาด, ศ.นพ.เคนเนท เอช.บราวน์, ศ.นพ.โรเบิร์ต อี.แบล็ก และศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์
**2 หมอเมืองผู้ดีอุทิศตนสู้ ‘มาลาเรีย’

กว่า 30 ปี ของการศึกษาสถานการณ์โรคมาลาเรีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ ศ.นพ.นิโคลัส เจ.ไวท์ ประธานหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนเวลคัมทรัสต์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ศ.เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล-มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีผลงานวิจัยการใช้ยาสูตรผสมซึ่งมีตัวยากลุ่มอาเทมิซินิน (artemisinin) กับยารักษามาลาเรียอีกชนิดหนึ่ง เพื่อเพิ่มผลการรักษาและป้องกันการดื้อยาในโรคดังกล่าว และลดอัตราการตายของผู้ป่วย ซึ่งนับเป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ผลต่อสุขภาพอนามัยต่อมวลมนุษยชาติ

ส่วน ศ.นพ.เควิน มาร์ช ผู้อำนวยการโครงการวิจัยเวลคัม-เคมรี่ มหาวิทยาลัยเดียวกัน ที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาด้านระบาดวิทยาภูมิคุ้มกันของโรคมาลาเรีย โดยศึกษาวิจัยซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน อีกทั้งยังพัฒนาวิธีการรักษาด้วยยาต้านแบคทีเรียร่วมกับยารักษามาลาเรียด้วย โดยพบว่า ภาวะหายใจลำบากและมาลาเรียขึ้นสมอง คือ อาการแทรกซ้อนของมาลาเรีย นำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาและดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการรุนแรง ซึ่งในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าจะพัฒนาไปสู่การวิจัยยาที่สามารถมีประสิทธิภาพในการรักษาเชื้อมาลาเรียที่มีการดื้อยาด้วย

**เสริมสังกะสีช่วยเด็กประเทศกำลังพัฒนา

ด้วยความมุ่งมั่นในและอยากให้ประชากรโลก โดยเฉพาะวัยเด็กมีสุขภาพที่ดี ไม่ขาดสารอาหาร และปลอดจากโรคติดเชื้อ 3 ศาสตราจารย์จากสาธารณรัฐอเมริกา (U.S.A) ประกอบด้วย ศ.นพ.อนันดา เอส.ประสาด ศ.เกียรติคุณ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวย์นเสตต, ศ.นพ.เคนเนท เอช.บราวน์ ศ.ภาควิชาการโภชนาการ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และ ศ.นพ.โรเบิร์ท อี.แบล็ก หัวหน้าภาควิชาสาธารณสุขระหว่างประเทศ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ได้ร่วมกันศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้การประยุกต์ใช้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็ก เพื่อพัฒนาการด้านการเจริญเติบโต ลดอัตราการตายจากโรคติดเชื้อที่สำคัญในเด็กหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงและโรคปอดบวม ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก สามารถลดอัตราการเกิดโรคอุจจาระร่วงลงร้อยละ 27 และลดการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างเฉียบพลันลงร้อยละ 20 ส่วนเด็กที่ขาดสารอาหารต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อได้รับธาตุสังกะสีเสริมจะมีอัตราการเจริญเติบโตและมีน้ำหนัก

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.อนันดา ระบุว่า WHO และองค์การเกี่ยวกับสาธารณสุข ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในการผลักดันและส่งเสริมให้มีเด็กๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาให้ได้รับธาตุสังกะสีในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาการที่ดี มีสุขภาพแข็งแรงอันจะช่วยลดอัตราการป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ ได้

ทั้งนี้ นายแพทย์ทั้ง 5 ท่านได้กล่าวถึงความภูมิใจในการเข้ารับพระราชทานรางวัลในครั้งนี้ ว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เดินตามรอยของพระยุคลบาทในด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุข อันเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น