xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยการแพทย์เผย “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เสี่ยงโรคระบาด-วิกฤตสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานวิจัยการแพทย์ชี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสี่ยงวิกฤตด้านสุขภาพ
เอเอฟพี - สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากรราว 600 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังประสบวิกฤตด้านสุขภาพ ผลวิจัยทางการแพทย์เผยวันนี้(25)

“วิกฤตด้านสุขภาพเกิดขึ้นแล้วอย่างเห็นได้ชัด” ผลวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ตระบุ พร้อมเตือนว่า โรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง ถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตร้อยละ 60 ในภูมิภาคนี้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดที่ยากจะควบคุม เช่น ไข้หวัดนก ซึ่งได้สร้างความหวั่นวิตกว่า ในอนาคตอาจจะเกิดเชื้อโรคใหม่ๆแพร่ระบาดจากดินแดนแถบนี้อีก

“การเปลี่ยนแปลงของประชากรในภูมิภาคเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีสาเหตุจากความชรา, อัตราการเกิดที่ลดลง และการอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่” ผลวิจัยระบุ

“ความเจ็บป่วยของประชากรแถบนี้เริ่มเปลี่ยนจากการติดเชื้อไปสู่การป่วยด้วยโรคเรื้อรังเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ แต่การเพิ่มของประชากรในเมืองใหญ่ก็ทำให้น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดเชื้อชนิดใหม่ๆ ขึ้น”

ผลวิจัยดังกล่าวเปิดเผยว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดมากที่สุดในโลก และ 1 ใน 4 ของการเสียชีวิตเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ต้องเผชิญทั้งลมมรสุมและพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง

ปรากฏการณ์ เอลนีโญ “ยังทำให้อากาศที่ร้อนชื้นมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดภัยแล้ง, น้ำท่วม และโรคระบาด เช่น มาลาเรีย และ อหิวาตกโรค” หนึ่งในรายงานระบุ

“สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจเร่งให้เกิดการระบาดของโรค โดยเฉพาะโรคที่มีสัตว์หรือแมลงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก ซึ่งมีสาเหตุจากอุณหภูมิและปริมาณฝนที่มากขึ้น”

การตัดไม้ทำลายป่าและการรุกล้ำถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ายังเป็นสาเหตุให้เชื้อพัฒนาข้ามสายพันธุ์ เนื่องจากมีการติดต่อระหว่างมนุษย์, สัตว์ป่า และ สัตว์เลี้ยงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การควบคุมเชื้อโรคเหล่านี้ยังทำได้ยาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขที่แตกต่างกันในประเทศที่ทำการวิจัย ซึ่งได้แก่ ลาว, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน, มาเลเซีย, พม่า, สิงคโปร์, กัมพูชา, ไทย และ เวียดนาม

ผลการศึกษาระบุด้วยว่า ความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ “ทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างล่าช้า” พร้อมแนะนำให้มีการพัฒนาระบบเตือนภัยทางสุขภาพให้เชื่อมโยงทั่วทั้งภูมิภาค

นักวิจัยยังเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เร่งควบคุมการแพร่ระบาดของ “โรคไม่ติดต่อ” เช่น โรคหัวใจ ซึ่งเกิดจากปัจจัยแวดล้อมที่สนับสนุนให้คนหันมาสูบบุหรี่, การรับประทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ตลอดจนการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ

“หากทุกประเทศยังไม่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และไม่หาหนทางแก้ไข การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและความพิการจะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งจะบั่นทอนการพัฒนาประเทศในจุดที่จำเป็นมากที่สุด”
กำลังโหลดความคิดเห็น