เอ่ยถึง “มาลาเรีย” บรรดาคนรุ่นใหม่ และชาวกรุงทั้งหลายอาจจะย่นหัวคิ้ว หลายคนรู้จักแต่ชื่อ และอีกไม่น้อยไม่รู้สึกคุ้นหู หรือคุ้นเคย บางส่วนเข้าใจว่าเป็นโรคที่มีผู้ป่วยไม่มาก และบางคนอาจเข้าใจผิดว่ามันเป็นโรคที่แทบจะหายไปแล้วจากโรคนี้ ด้วยความที่ไม่ค่อยมีข่าวการระบาดหรือการเกิดโรคนี้ในสังคมเมืองมากนัก
...แต่ในความเป็นจริงแล้ว “มาลาเรีย” ยังคงเป็นปัญหาของหลายพื้นที่ แม้กระทั่งในพื้นที่ชายแดนของไทยเองด้วย ยังมีบุคคลหลายกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายแดน ประชาชนที่เดินทางผ่านบริเวณดังกล่าว หรือแม้กระทั่งทหาร ที่มีหน้าที่ประจำการอยู่ ที่ได้รับเชื้อ มีอาการป่วย บางรายอาการหนัก และมีไม่น้อยที่เสียชีวิต
ในโอกาสที่ “วันมาลาเรียโลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 25 เม.ย.ที่ในปีนี้เพิ่งจะผ่านพ้นไปหมาดๆ เป็นอีกครั้งที่โครงการมาลาเรียลุ่มแม่น้ำโขงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาชี้แจงสถานการณ์ของโรคมาลาเรียในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พร้อมรายงานสถานการณ์ล่าสุดของโรคมาลาเรียที่ยังคงเป็นปัญหาหนักในพื้นที่ชายแดนของหลายๆ ประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งประเทศไทย
Dr.Charles Delacollette ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ ให้ภาพสถานการณ์ล่าสุด ว่า จากการทำโครงการระวังมาลาเรียดื้อยาโดยการให้ทุนของมูลนิธิบิล-และเมลินดา เกตส์ เป็นโครงการต่อเนื่อง 2 ปี ที่บริเวณชายแดนไทย-ลาว และชายแดนไทย-กัมพูชา ผลปรากฏออกมาค่อนข้างดี การติดเชื้อ การระบาด และจำนวนผู้ป่วยรวมถึงผู้เสียชีวิตลดลง แต่ในบริเวณชายแดนไทย-พม่ากลับมีตัวเลขที่สวนทาง มียอดผู้ติดเชื้อมาลาเรีย ชนิด Falciparum หรือ Pf สูงกว่า 200,000 ราย รวมถึงปัญหาเชื้อดื้อยาด้วย ทำให้ในปีนี้เมื่อกองทุนโลกให้ทุนเป็นครั้งที่ 10 และไทยได้รับทุนดังกล่าว ทางโครงการจึงย้ายพื้นที่การแก้ไขปัญหามาลาเรียไปเป็นบริเวณชายแดนไทย-พม่า
พ.อ.(พิเศษ) ผศ.นพ.กิฎาพล วัฒนกูล จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ในฐานะหัวหน้าหน่วยส่งเสริมสุขภาพอนามัยชายแดน เปิดเผยว่า มาลาเรียเป็นปัญหาหนึ่งที่พบมากในชายแดน ทั้งชายแดนไทย-กัมพูชา ชายแดนไทย-ลาว และโดยเฉพาะชายแดนไทย-พม่า เกือบครึ่งของประชาชนในพื้นที่ชายแดนติดเชื้อมาลาเรีย ซึ่งทำให้บริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่เป็นพื้นที่กิจการด้านการทหารกลายเป็นพื้นที่ของการแพร่ระบาดเช่นกัน
“แต่แม้จะเป็นพื้นที่การระบาดของโรค แต่หน้าที่ของทหารทำให้ไม่สามารถออกนอกพื้นที่การระบาดได้ สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ การป้องกัน และการรักษา ที่ผ่านมาก็มีทหารที่ติดเชื้อแต่ทันทีที่พบก็จะให้การรักษา ถ้ามีอาการมากก็จะส่งตัวต่อไปรักษาในโรงพยาบาล ส่วนยุทธศาสตร์การป้องกันเราก็ทำอย่างครอบคลุม”
พ.อ.(พิเศษ) ผศ.นพ.กิฎาพล ให้รายละเอียดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การป้องกันว่า มีทั้งการกำจัดพาหะ ด้วยการฉีดพ่นยา ฆ่าไข่ยุง การให้ความรู้แก่ทหารเกี่ยวกับการป้องกันตนเอง การจับตาเฝ้าระวังทหารที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ แจกอุปกรณ์ในการป้องกันยุง ทั้งยาทากันยุง มุ้งชุบน้ำยากันยุง เครื่องแบบชุบน้ำยากันยุง
“ยุทธศาสตร์เราจะไม่เน้นการกินยาป้องกัน แต่จะเป็นการนิเทศศึกษาให้ความรู้แก่ทหารในพื้นที่ถึงการป้องกันตัวด้วยอุปกรณ์ต่างๆ แต่ถ้าติดเชื้อ หรือมีอาการป่วยแล้ว ยุทธศาสตร์ด้านการรักษา จะเน้นการส่งตัวไปรักษาให้ทหารได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด ที่ผ่านมาก็มีทหารติดเชื้อมาเลเรีย แต่ยังไม่มีปรากฏว่า เสียชีวิต” พ.อ.(พิเศษ) ผศ.นพ.กิฎาพล ระบุ
ด้านพญ.ซินเธีย หม่อง ผู้อำนวยการแม่ตาวคลินิก อ.แม่สอด จ.ตาก และเจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชนดีเด่น แพทย์อาสาสมัครผู้เป็นเสมือนแม่ทัพหญิงที่ต้องสู้รบกับโรคภัยที่เบียดเบียนทั้งคนไทย คนพม่า คนกะเหรี่ยง และผู้อพยพที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ให้ภาพปัญหาโรคมาลาเรียในพื้นที่ดังกล่าวว่า
“โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีคลินิกแม่ตาว รับรักษาผู้ป่วยประมาณ 100,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยมาลาเรียประมาณ 5,000-6,000 คน 70% ผู้ป่วยมาลาเรียที่รักษามาจากพม่า ผู้ป่วยที่มามีทั้งคนไทย คนพม่า ชนกลุ่มน้อย และคนอพยพอื่นๆ และมีอาการหนักต้องแอดมิดปีละ 1,500-2,000 คน การเสียชีวิตภายใน 24 ชม.ที่ถูกนำตัวส่งถึงคลินิกเป็นเรื่องปกติ มีราว 10-20 รายต่อปีส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเพราะเดินทางมาจากที่ไกลๆ แต่ถ้าอาการหนัก จะนำตัวส่ง รพ.แม่สอด”
พญ.ซินเทีย กล่าวว่า จะเป็นไปไม่ได้เลยหากอยากปริมาณการแพร่ระบาดของมาลาเรียในพื้นที่ลดลง แต่ไม่ช่วยเหลือให้การรักษาผู้คนที่อพยพผ่านพื้นที่บริเวณนี้ หรือละเลยผู้ป่วยในพื้นที่ใกล้เคียง โดยในปี 2007 ได้ทำโครงการนำร่องกับรัฐกะเหรี่ยง เริ่มจากการดูแลประชาชนในหมู่บ้านประชากน 2,000 คนในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทั้งไทยและพม่าเข้าไม่ถึง เข้าไปดูแลสุขภาพ ให้ความรู้ และฝึกอาสาสมัครมาลาเรียในพื้นที่ จนในปีล่า โครงการนี้ได้ขยายใหญ่ขึ้น และครอบคลุมดูแลประชากรในรัฐกะเหรี่ยงแล้ว 40,000 ราย
“ภาพรวมของความท้าทายของการรักษามาลาเรียในภูมิภาคนี้ อยู่ที่การติดตามการรักษาที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ป่วยจำนวนมากเป็นคนอพยพ ซึ่งการตรวจมาลาเรียคัดกรองในสตรีมีครรภ์รวมถึงการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยที่มีปริมาณเชื้อในเลือดสูง จะต้องติดตามผลภายใน 28 วัน แต่การอพยพย้ายที่อยู่ตลอดเวลาทำให้ทำได้ยาก” พญ.ซินเทีย ทิ้งท้าย
***ขอบคุณภาพจากองค์การอนามัยโลกและกรมแพทย์ทหารบก