xs
xsm
sm
md
lg

มาลาเรียระบาดหนักชายแดนติดพม่า-3 จชต.ยอดติดเชื้อพุ่ง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์มาลาเรียชายแดนไทย-พม่า อ่วม! ยอดติดเชื้อพุ่งสวนทางประเทศชายแดนอื่นๆ ด้าน WHO เตรียมเข้าแก้ไขส่งต่อข้อมูลการควบคุมการระบาดที่เคยทำแล้วได้ผลในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และชายแดนไทย-ลาว ด้าน “หมอวิชัย” ระบุในประเทศเองก็เจอปัญหาหนักบริเวณ 3 จชต.เหตุการรักษาเข้าไม่ถึง ทำสถิติการติดเชื้อพุ่งสูงจากปีละ 30 ราย เป็นปีละเฉียด 3 พันราย เผย พบภาวะดื้อยา แต่ไม่สูงถึงขนาดต้องเปลี่ยนตัวยารักษา ชี้เป็นธรรมชาติและเกิดขึ้นได้

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ Dr.Charles Delacollette ในฐานะผู้ประสานงานโครงการมาเลเรียลุ่มแม่น้ำโขงขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดของการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ในการประชุม Workshop on Challenges and the Way Forward on Implementation of Malaria Prevention and Control for High-Risk Populations Along Thai Borders ซึ่งเป็นการประชุมในวาระวันมาลาเรียโลก 25 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ว่า กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่ WHO เข้าไปดูแลเรื่องการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรีย ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และรัฐยูนนาน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภารกิจหลัก คือ การลดอัตราการติดเชื้อ และหลังจากเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศดังกล่าว พบว่า หลายประเทศประสบความสำเร็จกว่าที่ตั้งเป้า ทำให้ WHO คาดหวังไปถึงขั้นการกำจัดเชื้อให้หมดไป ซึ่งในภาพรวมส่วนใหญ่อัตราการติดเชื้อมาลาเรียลดลงเรื่อยๆ รวมถึงอัตราการเสียชีวิตด้วย แต่ที่พบปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือ ที่พม่า ที่ยอดผู้ติดเชื้อสวนทางกับทุกประเทศ คือมียอดผู้ติดเชื้อมาลาเรีย ชนิด Falciparum หรือ Pf สูงกว่า 200,000 ราย รวมถึงปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดจากสาเหตุหลังคือการรักษาและกินยาอย่างไม่ต่อเนื่อง, ปัญหายาปลอม และยาเสื่อมสภาพ ที่พบทั้งยาปลอมที่จงใจผลิตมาขายที่มีตัวยาน้อยกว่ามาตรฐาน และยาเสื่อมสภาพที่ฤทธิ์ยาน้อยลง อันจะส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับยาในปริมาณฤทธิ์ยาน้อยเกินไปและเชื้อเกิดอาการดื้อยาได้

Dr.Charles Delacollette
“ในปีนี้ไทยได้รับกองทุนสนับสนุนจากกองทุนโลกต่อจากกองทุนของ บิล เกตส์ ที่ให้ทุนต่อเนื่องมา 2 ปีก่อนหน้านี้ และได้นำไปใช้ควบคุมมาลาเรียในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว และชายแดนไทย-กัมพูชาแล้วได้ผล สถิติการติดเชื้อลดลง พอดีกับที่ทุนนี้หมดลง ก็ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนโลก (ครั้งที่ 10) ประกอบกับที่พม่ามีปัญหาการติดเชื้อ Pf สูง จึงมีการส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์และยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้ผลมาแล้วในพื้นที่ดังกล่าว และเข้าไปดูแลในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า แทน”

Dr.Charles กล่าวด้วยว่า ปัญหาหลักของสถานการณ์มาลาเรียในพม่ามาจากการที่ประเทศพม่ามีกำลังสนับสนุนด้านยาและการรักษาที่จำกัด และเนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศทำให้มีการอพยพ การเดินทางออกนอกประเทศออกมาผ่านบริเวณชายแดน ซึ่งเป็นการเพิ่มอัตราการติดเชื้อด้วย เพราะมาลาเรียเป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะ การที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้าออกในพื้นที่ที่มียุงพาหะ แล้วยุงไปกัดแล้วนำเชื้อไปกัดผู้อื่นก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค

ด้านนพ.วิชัย สติมัย ผอ.สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้สนับสนุนการรักษา ทั้งการตรวจและการจ่ายยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้แก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ แรงงานต่างด้าว และผู้อพยพ ในอัตราส่วนที่เกือบจะเป็น 50:50 ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เพราะการควมคุมการติดเชื้อและเป้าหมายของการลดการติดเชื้อจะลดลงไม่ได้เลย หากประเทศเพื่อนบ้าน,ประชาชนในพื้นที่ชายแดนและผู้ที่อพยพเข้า-ออกประเทศไทยรวมถึงแรงงานต่างด้าว ยังคงเป็นผู้ป่วยและผู้ติดเชื้ออยู่
นพ.วิชัย สติมัย
“ในปี 2554 นี้ ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค.ภาพรวมทั้งประเทศของไทย มีผู้ป่วยทั้งหมด 2,320 ราย น้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันราว 44% ส่วนการดูแลในพื้นที่ชายแดน หลังจากมีการตั้งจุด Post Malaria ซึ่งเป็นจุดตรวจมาลาเรียในหมู่บ้าน มีการให้ความรู้แก่อาสาสมัคร เพิ่มช่องทางการเข้าถึงการเจาะเลือด การตรวจเชื้อ และการรักษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วขึ้น ผู้ป่วยบริเวณชายแดนมีอัตราลดลง ยกเว้นในพื้นที่ชายแดนไทยที่ติดกับพม่า เนื่องจากปัญหาความไม่สงบ ทำให้มีการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยในอัตราที่ค่อนข้างมาก ทำให้การควบคุมการระบาดเป็นไปได้ยาก”

นอกจากนี้ นพ.วิชัย ยังกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ที่เป็นปัญหาไม่แพ้กันในขณะนี้ของประเทศไทย นั่นก็คือ พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงในพื้นที่ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ถึง สถานีอนามัยบางแห่งถูกเผา บางแห่งต้องปิด ทำให้ตัวเลขของผู้ติดเชื้อจากเดิมก่อนมีเหตุการณ์ความไม่สงบมีอัตราผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 20-30 รายต่อปี แต่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อมาลาเรียในพื้นดังกล่าวสูงถึงประมาณ 3,000 ราย

สำหรับปัญหาความเจ็บป่วยในยะลา ปัตตานี นราธิวาส ไม่ได้มีเฉพาะมาลาเรียเท่านั้นที่เป็นปัญหา ตอนนี้เราเริ่มพบคอตีบ ไอกรนแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจะไปตำหนิเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องของการบกพร่องของการทำงาน แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัย ความไม่สงบ ความรุนแรง และการเข้าไปไม่ถึงในพื้นที่ของการรักษา เป็นปัญหาทั้งระบบ ที่ไม่รู้ว่ามันจะจบเมื่อไหร่” นพ.วิชัยทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น