สธ.เตือนหน้าฝนระวัง ไข้เลือดออก-มาลาเรีย ระบาด เผยตั้งเป้าลดผู้ป่วยไข้เลือดออกลงอีก 5 หมี่น
นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องกังวลในช่วงฝนตก คือ โรคติดต่อนำโดยแมลง โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากยุงลายเป็นพาหะ และโรคมาลาเรีย ที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจำเป็นต้องเฝ้าระวัง 2 โรคนี้เป็นหลัก โดยในส่วนของไข้เลือดออกนั้นในปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยจากโรคนี้ประมาณ 115,000 คน แต่ในปี 2554 สธ.ตั้งเป้าที่จะลดผู้ป่วยลงจากเดิมอีก 50,000 ราย ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม จนกระทั่งปัจจุบันมีผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกไปแล้วประมาณ 4,000 ราย ถือว่าเป็นแนวโน้มที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ใน ส่วนของโรคมาลาเรีย ยังคงเกิดการระบาดอยู่บ้างตามแนวชายแดน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาหากิน มารับจ้าง ทำให้นำโรคดังกล่าวเข้ามาด้วย ขณะที่ในพื้นที่อื่นๆแทบจะไม่พบการระบาดของโรคมาลาเรียแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า อีกประมาณ 10 ปี ประเทศไทยจะสามารถกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศได้แน่นอน
ผอ.สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวต่อว่า แม้ในช่วงนี้จะยังไม่ถือว่าเป็นช่วงระบาดของไข้เลือดออก แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วงที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำกักขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ขณะเดียวกัน ในช่วงหลังยังมีการพบปัญหาของยุงที่ดื้อยา ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุมาจากการที่ใช้สารเคมีกำจัดยุงชนิดใดก็ตามเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะทำให้ยุงดื้อยาได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่า ในการดำเนินการฉีดสารเคมีกำจัดยุงลายพบในบางพื้นที่ยุงลายมีอัตราการตายน้อย ลงกว่าร้อยละ 80 ซึ่งตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าอยู่ในเกณฑ์ดื้อยา แต่หากยุงมีอัตราการตายที่ร้อยละ 80-97 จะอยู่ในข่ายสงสัยว่าจะเกิดการดื้อยา