xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ตั้งศูนย์การแพทย์ชายแดนไทย-กัมพูชา จัด 7 แผนรับฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“จุรินทร์” ตั้งศูนย์อำนวยการแพทย์ฯชายแดนไทย-กัมพูชา ให้โรงพยาบาลชายแดนเตรียมพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ จัด 7 แผนรับเหตุฉุกเฉิน ส่งทีมแพทย์ดูแลสุขภาพกาย-จิตผู้อพยพที่ อ.กันทรลักษ์ใกล้ชิด เฝ้าระวังป้องกันโรคในจุดอพยพชั่วคราว ล่าสุดมีผู้บาดเจ็บ-จากเหตุปะทะรวมทั้งหมด 34 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนผลกระทบทางสุขภาพจิตพบผู้ต้องกินยาคลายเครียด วิตกกังวล 22 ราย

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ทันทีที่เกิดการปะทะกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งศูนย์อำนวยการด้านการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมอบหมายให้นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานศูนย์ มีคณะทำงานจากทุกกรมและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ประสานงานกับกรมแพทย์ทหารบกมาร่วมทำงานด้วยกัน ซึ่งหลังจากมีการตั้งศูนย์ฯ ได้สั่งการไปยังโรงพยาบาลตามแนวชายแดนทั้งหมดให้มีการเตรียมความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ให้นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินทางลงพื้นที่ตั้งแต่วันเสาร์ และวานนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2554) ได้ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเดินทางลงพื้นที่จนถึงขณะนี้ และรายงานความคืบหน้าให้ทราบตลอดเวลา

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ระบบบริหารจัดการที่จะเข้าไปดูแลผู้บาดเจ็บจะใช้โรงพยาบาลกันทรลักษ์เป็นฐานด่านหน้า ขณะนี้ได้ปรับเป็นโรงพยาบาลฐานด่านหน้าทางทหารแล้ว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และมีโรงพยาบาลแม่ข่ายในการประสานงานรับส่งต่อ เช่น โรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และโรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ของกองทัพด้วย สำหรับการเตรียมพร้อมทั้งหมดขณะนี้ได้เตรียมสำรองทีมศัลยแพทย์ไว้แล้ว 3 ทีม จากโรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี หมุนเวียนไปประจำที่โรงพยาบาลกันทรลักษณ์ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา นอกจากนั้นได้สำรองเลือดซึ่งมีความพอเพียง สำรองห้องผ่าตัดตามโรงพยาบาลต่างๆ ในเครือข่าย รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลระบบสนับสนุนอื่นๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบวิทยุสื่อสาร

นอกจากนี้ยังดำเนินการในเรื่องแผนงานรับเหตุฉุกเฉินให้มีความพร้อมตลอดระยะเวลา ทั้งหมด 7 แผน ได้แก่ 1.แผนการป้องกันสถานพยาบาล 2.แผนการให้บริการประชาชนในภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ 3.แผนการให้บริการประชาชนในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข 4.แผนดูแลด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีผู้อพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงเป็นจำนวนมาก ขณะนี้คาดว่ามีประมาณ 6,000 คน 5.แผนการใช้ อสม.ช่วยดูแลระบบสุขภาพอนามัยในศูนย์พักพิง 6.แผนการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และ 7.แผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือโรคระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคที่เกิดจากแมลงต่างๆ เช่น ยุง แมลงวัน

สถานการณ์จนกระทั่งถึงวันนี้ ผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นทหาร 1 ราย และพลเรือน 1 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 34 ราย เป็นทหาร 30 ราย และพลเรือน 4 ราย ส่วนใหญ่บาดเจ็บเล็กน้อย ต้องนอนพักในโรงพยาบาล 27 ราย เป็นทหาร 26 ราย และพลเรือน 1 ราย สำหรับที่บาดเจ็บหนักมี 1 รายเป็นทหารส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์แล้วตั้งแต่เมื่อคืนนี้ เวลา 01.30 น. ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่อยู่ที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ส่วนที่ยังค้างอยู่ที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ ขณะนี้มี 4 รายเป็นทหาร 3 ราย พลเรือน 1 ราย และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี อีก 1 ราย

สำหรับที่ศูนย์พักพิง กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และหน่วยปฐมพยาบาลไปให้บริการทุกจุด รวมทั้งมีหน่วยสุขภาพจิต จากโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี อาการด้านสุขภาพจิต ส่วนใหญ่จะมีอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ ได้ให้ยาคลายประสาท โดยมีผู้มารับการตรวจคัดกรอง 1,165 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้รับยา 22 ราย และรับคำปรึกษา 49 ราย ส่วนโรคทางกายส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ยังไม่พบโรคอุจจาระร่วง นอกจากนี้ได้ส่งจิตแพทย์และนักจิตวิทยา จากกรมสุขภาพจิต ลงไปดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายแล้ว

ด้าน นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ได้เดินทางไปโรงพยาบาลกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ในการดูแลผู้เจ็บป่วย สำรองคลังเลือดไว้ 1,000 ยูนิต ส่วนเวชภัณฑ์อื่นมีความพร้อมเต็มที่ มีห้องผ่าตัด 10 ห้อง สำรองทีมแพทย์ศัลยกรรมอย่างน้อย 10 ทีมเตรียมพร้อมตลอดเวลา โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ทุกคนมีขวัญกำลังใจดีมาก ได้ประสานให้โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะตามจุดพักพิงชั่วคราว โดยในวันนี้แพทย์ได้อนุญาตให้ผู้บาดเจ็บที่พักรักษาตัว 4 ราย ซึ่งบาดเจ็บไม่มาก ประกอบด้วยทหาร 3 นาย ประชาชน 1 รายกลับบ้านได้ทั้งหมด ยังไม่มีรายใหม่เพิ่ม จากนั้นได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และเยี่ยมอาการของทหารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ ขณะนี้อยู่ในความดูแลของทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำเขตลงไปช่วยอำนวยการด้านบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ เพื่อให้การดูแลผู้เจ็บป่วยเป็นไปอย่างคล่องตัว

ขณะที่ นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ทำการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในจุดอพยพของประชาชน ที่อ.กันทรลักษณ์ เนื่องจากประชาชนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้มาลาเรีย กรมควบคุมโรคได้ส่งมุ้งชุบสารเคมีป้องกันยุงกัดจำนวน 300 หลัง ยาทากันยุง 5,000 ซอง เจลล้างมือแอลกอฮอล์ 2,000 หลอด และหน้ากากอนามัย 3,000 ชิ้น และให้สำนักงานป้องกันโรคที่จังหวัดอุบลราชธานีดูแลใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น