ASTVผู้จัดการออนไลน์ -ซีพีเอฟ สวทช. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาด
นายสุวิทย์ ประภากมล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟโดยโรงงานอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุ ได้ดำเนินโครงการ “กิจกรรมฝึกงานเทคโนโลยีสะอาด” ซึ่งเป็นความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่างซีพีเอฟ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาด
โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 ในรูปแบบของการเปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จำนวน 2 คน ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าศึกษากระบวนการผลิตภายในโรงงาน เป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อค้นหาปัญหาพร้อมเสนอวิธีแก้ไขด้วยเทคโนโลยีสะอาด (Cleaned Technology – CT )
การดำเนินโครงการจะเริ่มจากการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาศึกษาปัญหาในโรงงาน โดยใช้หลักการของเทคโนโลยีสะอาด จากนั้นจึงเสนอวิธีการแก้ไข ดำเนินการทำโครงการและติดตามผล แล้วจึงนำเสนอต่อที่ประชุมโครงการฯ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ประเมินผลการทำกิจกรรมของนักศึกษา ขณะที่ สวทช. จะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณทุกด้าน เช่น การจัดฝึกอบรม การประชุมนำเสนอผลงานแก่ทางโรงงาน รวมทั้งให้ทุนนักศึกษาในการศึกษาและดำเนินโครงการต่อในกรณีที่โครงการเทคโนโลยีสะอาดที่นักศึกษานำเสนอได้รับการประเมินผลให้เป็นโครงการดีเด่นในแต่ละปี
โครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างมาก โดยนักศึกษาจะได้รับการถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์การคิดค้นเทคโนโลยีสะอาด ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็สามารถนำแนวทางการผลิตที่สะอาดไปประยุกต์ใช้ เป็นการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ซึ่งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโลยีสะอาดระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทเช่นนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาโจทย์วิจัยต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืนแก่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป
“ซีพีเอฟเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญในด้านการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ อยู่เสมอ พลังงานสะอาดก็เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่บริษัทมีการศึกษา และนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง อาทิ เช่น ไบโอแก๊ส ไบโอดีเซล หรือ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไม้สับ ขี้เลื่อย กะลาปาล์มแทนน้ำมันเตา เป็นต้น ขณะที่การเปิดโอกาสให้เด็กนักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์จริงในโรงงานก็ถือเป็นการส่งเสริมความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับพลังงานสะอาดในกลุ่มเยาวชนไทยด้วย” นายสุวิทย์กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ ประธานโครงการเทคโนโลยีสะอาด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า กิจกรรมฝึกงานเทคโนโลยีสะอาดเป็นการสร้างเสริมให้นักศึกษามีทักษะการปฏิบัติงานจริงภายใต้การดูแลร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยใช้หลักการเทคโนโลยีสะอาด เน้นการทำงานเป็นทีมร่วมกับพี่เลี้ยง สร้างความร่วมมือช่วยเหลือเรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นเครือข่าย ทั้งยังเปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาได้มีประสบการณ์เข้าศึกษาดูงานในสถานประกอบการ ทางโรงงานเองก็ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์และนักศึกษาในการพัฒนางาน นอกจากนี้ยังให้ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงงานบ้านพรุได้ร่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งมาก”
ทั้งนี้ ตัวอย่างโครงการทางด้านเทคโนโลยีสะอาดที่ดีและเห็นผลชัดเจนจากฝีมือนักศึกษาในโครงการความร่วมมือนี้ ได้แก่ โครงการติดตั้งเครื่องร่อนขี้เถ้ากะลาปาล์ม ซึ่งทำให้โรงงานสามารถลดปริมาณของเสียหรือเถ้าหนักที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยสามารถร่อนแยกเป็นเชื้อเพลิงกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างน้อย 23% จากเถ้าหนักทั้งหมดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าจ้างกำจัดของเสียได้ปีละประมาณ 110,000 บาท