xs
xsm
sm
md
lg

‘PINTOY’ ของเล่นไม้เสริมกึ๋น ใส่ไอเดียมากกว่าแค่สนุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความตระหนักถึงประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับจากการเล่นของเล่น กับความปลอดภัยของตัวสินค้า ล้วนเป็นปัจจัยที่เสริมให้ตลาดของเล่นทำจาก “ไม้” เติบโตและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้ทั่วโลก หากไม่เชี่ยวชาญจริง ยากที่จะยืนหยัดอยู่ได้
ดุษฎี เลาติเจริญ
สำหรับบริษัท พิณอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตของเล่นเด็กไม้ ในชื่อแบรนด์ “PINTOY” อาศัยจุดเด่นด้านสร้างสรรค์นวัตกรรมแก่ของเล่นไม้อยู่เสมอ โดยเฉพาะการเติมฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์เพื่อการเรียนรู้และเสริมทักษะให้เหมาะกับเด็กอย่างแท้จริง

ดุษฎี เลาติเจริญ กรรมการผู้จัดการ ขยายความว่า ในการออกแบบสินค้าแต่ละชิ้น ทีมออกแบบจะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กจากสถาบันการศึกษา รวมกับใช้ประสบการณ์ที่อยู่ในวงการผลิตของเล่นไม้มากว่า 20 ปี ทำให้เข้าใจพื้นฐานการพัฒนาของเด็กอย่างลึกซึ้ง
ภายในโรงงานผลิต
“การออกแบบสินค้าของบริษัท จะเน้นให้มีฟังก์ชั่นเพื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสมอง ประสาทสัมผัส ฯลฯ รวมถึง ดูความต้องการของตลาดด้วย โดยทุกปีจะส่งทีมดีไซน์เนอร์ไปดูงานต่างประเทศ และที่ถือเป็นหัวใจในการผลิตของเล่นเด็ก คือ ความปลอดภัย ซึ่งจะมีทีมคิวซีสินค้าเป็นรายชิ้น รวมถึง มีทีมอัพเดตมาตรฐานความปลอดภัย และกฎหมายล่าสุดในการผลิตของเล่นเด็กที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เราสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสูงที่สุด”

เจ้าของธุรกิจ ระบุต่อว่า ของเล่นไม้มีจุดเด่นด้านความแข็งแรง ทนทาน และมีความปลอดภัยสูงกว่าของเล่นที่ทำด้วยพลาสติกหรือโลหะ ในส่วนของบริษัท วัตถุดิบหลักที่ใช้ผลิต คือ ไม้ยางพารา มีสินค้า 3 หมวดหลัก ได้แก่ ของเล่น เกม และเฟอร์นิเจอร์เด็ก โดยมีสินค้ากว่า 600 รายการ เหมาะสำหรับเด็กวัยแรกเกิดถึงประมาณ 10 ขวบ ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะออกสินค้าใหม่ประมาณ 20-30 รายการเท่านั้น เพราะกว่าจะได้ของเล่นที่ลงตัว ต้องวิจัยและพัฒนาให้แน่ใจว่า สร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า และช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กได้จริง

ในเมืองไทยมีผู้ผลิตของเล่นไม้ ประมาณ 20 ราย มูลค่าการส่งออกประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี โดย PINTOY ถือเป็นผู้ผลิตติด 1 ใน 3 อันดับแรกของประเทศ โดยเน้นผลิตเพื่อการส่งออก กว่า 70% จะติดแบรนด์ตัวเองส่งออกไปยัง 24 ประเทศทั่วโลก ส่วนอีก 30% จะรับจ้างผลิต (OEM) ให้แก่บริษัทต่างชาติรายใหญ่ ส่วนตลาดขายปลีกในประเทศนั้น แทบจะไม่มีเลย เนื่องจากตลาดเมืองไทย ของเล่นยังเป็นเพียงอุปกรณ์สร้างความสนุก ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น

“คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่า ของเล่นเป็นของฟุ่มเฟือย แต่ต่างประเทศ โดยเฉพาะชาติที่เจริญแล้ว จะมองว่า ของเล่น คือการเรียนรู้ ดูได้จากปริมาณการใช้ของเล่นเด็กไม้ของเด็กไทยอยู่ที่ 14 เหรียญสหรัฐต่อคน ในขณะที่แถบยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน อยู่ที่ 200-300 เหรียญสหรัฐต่อคน ดังนั้น ตลาดหลักของเราจึงยังเป็นส่งออก”

สำหรับการแข่งขันบนเวทีโลกนั้น ดุษฎีระบุว่า เจ้าตลาดที่แท้จริง เป็นผู้ผลิตจากประเทศจีน อาศัยของได้เปรียบด้านราคาถูก ครองสัดส่วนทั่วโลกถึงกว่า 70% อย่างไรก็ตาม ของเล่นไม้จากเมืองไทย มีจุดเด่นสำคัญด้านไม้ยางพาราคุณภาพสูง สีสวยงามเหมาะทำเป็นของเล่น และในส่วนของบริษัทเอง พยายามฉีกหนีการแข่งขันกับสินค้าจีน ด้วยการวางตำแหน่งเป็นสินค้าเกรดเอ ผลิตได้มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด และมีดีไซน์เหนือกว่าท้องตลาด

“ในประเทศจีน จะมีเมืองหนึ่งที่ทำอุตสาหกรรมของเล่นไม้ทั้งเมือง ไม่ว่าเราจะคิดแบบใหม่ใดๆ ขึ้นมาก็จะถูกก๊อปปี้อย่างรวดเร็ว เมื่อก่อนเราพยายามปกป้องด้วยมาตรการทางกฎหมาย แต่ก็ช่วยไม่ได้มากนัก ดังนั้น เราจึงเปลี่ยนแนวคิดที่จะวิ่งให้เร็วขึ้น ปรับปรุงรูปแบบตลอดเวลา เพื่อที่จะให้คนที่คอยก๊อปปี้ ตามเราไม่ทัน”

อีกส่วนสำคัญที่นำมาใช้เสริมประสิทธิภาพธุรกิจ คือ ปรับการบริหารภายใน มุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน ปลุกจิตสำนึกการเรียนรู้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มใจ และทำงานเหมือนตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ

“บริษัททั่วไป เวลาจะพัฒนาบุคลากร มักใช้วิธีจัดอบรม แต่พออบรมจบก็ทิ้ง ไม่เกิดประโยชน์มากนัก เดิมบริษัทเราก็เป็นเช่นกัน ดังนั้น ผมได้หาทางเพิ่มประสิทธิภาพ โดยเข้าโครงการ Productivity Facilitator (PF) กับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ”

ทั้งนี้ หลักสำคัญของ PF ให้พนักงานมีส่วนร่วมอย่างสมัครใจ เช่น การอบรม เมื่อก่อนพนักงานจะรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องเรียนรู้ แต่แนวทาง PF จะเริ่มต้นจากกระตุ้นให้พนักงานเกิดความสนใจ สนุกที่จะเรียนรู้ ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นเกม ให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น เมื่อพนักงานเกิดความสนุกแล้ว เขาจะเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของบริษัทสูงขึ้นไปโดยอัตโนมัติ

สำหรับ PINTOY ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2527 ดุษฎี เล่าย้อนว่า เริ่มต้นจากเล็กๆ มีพนักงานไม่กี่คน ทำสินค้าหัตถกรรมไม้ เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ ไม้แกะสลัก เป็นต้น จากนั้น เปลี่ยนมารับจ้างผลิตของเล่นไม้ให้แก่บริษัทต่างชาติราว 4-5 ปี จนสามารถยกระดับตัวเองเป็นผู้ผลิตภายใต้แบรนด์ตัวเอง ปัจจุบัน มีพนักงานกว่า 700 คน ถือเป็นผู้ผลิตของเล่นไม้แถวหน้าของไทย ยอดขายปีที่ผ่านมา (2553) กว่า 900 ล้านบาท

“ในวงการของเล่นโลก ของเล่นพลาสติกยังครองตลาดกว่า 50% ของเล่นผ้า 30-40% ส่วนของเล่นไม้แค่ 10-15% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่า ของเล่นไม้ยังมีตลาดเฉพาะของตัวเอง เนื่องจากมีเอกลักษณ์ด้านความแข็งแรง ปลอดภัย และเป็นงานแฮนด์เมดมีความคลาสสิกอยู่ในตัว ซึ่งแนวทางของผม จะพยายามรักษาฐานลูกค้าเดิม ควบคู่กับพัฒนาของเล่นไม้ให้เกิดความแปลกใหม่อยู่เสมอ”

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
กำลังโหลดความคิดเห็น