xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เพิ่มงบหลักประกันสุขภาพฯ 2,895 บาทต่อหัวต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.มารุต มัสยวาณิช
ที่ประชุม ครม.ดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อัดงบ 3.4 พันล้านบาท ครม.เห็นชอบให้ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2,895 บาทต่อหัวต่อปี จำนวนกว่า 48 ล้านคนได้สิทธิจากเดิมปีละ 2,500บาท ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.เพิ่มเบี้ยประชุมรายเดือน

วันนี้ (14 มี.ค.) นพ.มารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ งบประมาณ 3,416 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ความยั่งยืน ตามที่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เสนอขอ โดยในแผนการพัฒนาดังกล่าวแบ่งเป็น 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ความยั่งยืน พ.ศ. 2555-2564 วงเงินรวม 2,167 ล้านบาท และโครงการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์ พ.ศ. 2555-2557 กรอบวงเงินรวม 1,249.40 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ครม.มอบหมายให้สำนักงานเศรษบกิจอุตสาหกรรมไปพิจารณาบูรณาการภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางบริหารจัดการแผนงานและงบประมาณ รวมถึงประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผน

ที้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอโครงการพัฒนาศูนย์ทดสอบยานยนต์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ บุคลากร ห้องทดสอบเพื่อการวิจัยและพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างเข้มแข็งเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง มีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและความปลอดภัยตลอดเวลา โดยในปี’53 ไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์กว่า 1.6 ล้านคันต่อปี และคาดว่าในปี’57 กำลังการผลิตมีเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3 ล้านคันต่อปี แต่อุปสรรคต่อการเจริญเติบโตที่สำคัญประการหนึ่งคือการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ประกอบกับการที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจะนำมาตรฐานความปลอดภัยของยุโรปมาใช้ร่วมกันในปีง’58 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลก และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต

นอกจากนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์มีความสามารถในการประกอบกิจการเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากบุคลากรมีความรู้ความชำนาญ มีผลิตภาพ (Productivity) ดีขึ้น มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องสามารถเพิ่มยอดขายหรือส่วนแบ่งตลาดได้ รวมทั้งสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดการนำเข้า มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างยั่งยืน คุ้มครองผู้บริโภคทั้งด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย ซึ่งจะช่วยป้องกันหรือลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ลดการทำลายมลพิษทางอากาศหรือของเสียที่จะทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในภาพรวม และอุตสาหกรรมยานยนต์มีการพัฒนาสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้มาตรฐาน 1 ใน 10 ของโลก ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ระดับโลกอย่างยั่งยืน มีการจ้างงาน สร้างนวัตกรรม และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

นพ.มารุตกล่าวอีกว่า ครม.มีมติเห็นชอบงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ 2555 วงเงินรวมทั้งสิ้น 145,943,363,800 บาทโดย แบ่งเป็น 1.งบอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอัตรา 2,895.6บาทต่อหัวต่อปี สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิ 48,333,000 คนซึ่งคิดเป็นวงเงินที่รวมกับเงินเดือนแล้วเป็นวงเงินทั้งสิ้น138,503,044,800 บาท

2.งบบริการสุขภาพสำหรับผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ 2,940,055,000 บาท สำหรับผู้มีสิทธิ 157,600 คน 3.งบบริการทดแทนไต สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย วงเงิน3,857,893,000 บาท สำหรับผู้มีสิทธิ 21,476 คน 4.งบควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง (โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง) วงเงิน 437,895,000 บาทสำหรับผู้มีสิทธิ 1,614,210 คน 5. งบบริการสุขภาพผู้ป่วยจิตเวช วงเงิน 204,476,000 บาท สำหรับผู้มีสิทธิ 121,370 คน

นพ.มารุตกล่าวอีกว่า ในส่วนงบอัตราเหมาจ่ายรายหัว 2,895.6 บาทต่อหัวต่อปีนั้น ประกอบด้วย ค่าบริการผู้ป่วยนอกอัตรา 997.9 บาทต่อหัวต่อปี ค่าบริการผู้ป่วยทั่วไปอัตรา 1,022.35 บาทต่อหัวต่อปี ค่าบริการบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค อัตรา274.72 บาทต่อหัวต่อปี และงบค่าเสื่อม อัตรา 148.69 บาทต่อหัวต่อปี

ทั้งนี้ เดิมการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เสนอของบอัตราเหมาจ่ายรายหัวอัตรา 3, 249.94 บาทต่อหัวต่อปี แต่สำนักงบประมาณเห็นว่าสูงเกินไป จนสุดท้ายได้ข้อสรุปที่ตัวเลข 2,895.6 บาทต่อหัวต่อปี

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติทั้ง 3 ข้อตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้ 1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. .... 2. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ในส่วนราชการที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้ได้รับค่าตอบแทนหรือเงินสมนาคุณเป็นรายเดือนแทนการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 และพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 โดยให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนตามร่างพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. .... แทน

นพ.มารุตกล่าวว่า 3.เห็นชอบอัตราวงเงินเบี้ยประชุมขั้นต่ำและสูงเพื่อกระทรวงการคลังประกาศกำหนดโดยเบี้ยประชุมรายครั้ง อัตราครั้งละ 800 บาทถึง 3,000 บาท สำหรับเบี้ยประชุมรายเดือนเห็นชอบให้คงอัตราเดิม คือ อัตราเดือนละ 3,000 บาท ถึง 20,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 และให้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. .... ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น