xs
xsm
sm
md
lg

ชวนช่างภาพประกวดเล่าเรื่อง “มหัศจรรย์ดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เส้นแห่งแสงดาว” ภาพของนายสิทธิ์ สิตไทย  เป็นหนึ่งในภาพถ่ายที่ได้นำจัดแสดงในนิทรรศการ “ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์” ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี กรุงเทพฯ
สดร. จับมือ แคนนอน จัดประกวดเล่าเรื่อง “ดาราศาสตร์” ผ่านชัตเตอร์ปีที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย” พร้อมฝึกอบรมเทคนิคการถ่ายภาพดาราศาสตร์ฟรีโดยทีมวิทยากรจากสถาบันดาราศาสตร์ และเปิดตัวนิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลก ณ จามจุรีสแควร์ กว่า 40 ภาพ  

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วม บริษัทแคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด จัดการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผอ.สดร. กล่าวว่า การประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ได้จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 สำหรับในปี 2554 นี้ได้แบ่งการประกวดเป็น 5 ประเภทด้วยกัน คือ 1.ประเภทภาพถ่ายวัตถุอวกาศห้วงลึก (Deep Sky Objects) เป็นภาพถ่ายจำพวก กาแล็กซี เนบิวลา หรือกระจุกดาว 2.ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา และฝนดาวตก เป็นต้น

3.ประเภทภาพถ่ายวัตถุในระบบสุริยะ อาทิ ดาวเคราะห์ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย และดวงจันทร์ เป็นต้น 4.ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่ประกอบด้วยวัตถุบนท้องฟ้าที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ และ 5.ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศโลก เช่น ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า ดวงอาทิตย์ทรงกรด ดวงจันทร์ทรงกรด และเมฆ เป็นต้น ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล และ กล้องดิจิทัล จากบริษัท แคนนอน รวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท

ผู้ที่สนใจส่งภาพเข้าประกวดสามารถติดตามรายละเอียด กติกา และดาวโหลดใบสมัครได้ที่ www.narit.or.th เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิ.ย. 54  ซึ่งจะจัดมอบรางวัลในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติที่จะมีขึ้นในเดือน ส.ค.นี้

สำหรับภาพที่ได้รางวัลแต่ละปีนั้น ดร.ศรันย์ เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ทางสดร.จะนำมาจัดทำสื่อทางดาราศาสตร์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินดาราศาสตร์ ภาพประกอบสื่อดาราศาสตร์ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมภาพถ่ายทางดาราศาสตร์สัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ประชาชน นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสสัมผัสความสวยงาม ความมหัศจรรย์ของท้องฟ้า ดวงดาว รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้อย่างทั่งถึงด้วย

ดร.ศรันย์ บอกว่า กิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะแสดงถึงความมหัศจรรย์และความสวยงามของปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ บนท้องฟ้าแล้ว ยังสร้างความประทับใจและสร้างแรงบันดาลใจในการสังเกต ค้นคว้า เสาะแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุมีผลตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสามารถกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักและตื่นตัวทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย” ดร.ศรันย์ กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ นายนิฐิวัฒน์ วัจนวรานันท์ ผู้จัดการฝ่ายขายจากแคนนอน เสริมว่า คนทั่วไปมักคิดว่า การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์มีความยุ่งยาก ต้องใช้กล้องระดับมืออาชีพและเลนส์ราคาแพงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการถ่ายภาพด้านดาราศาสตร์มีหลายประเภท และบางประเภทเพียงใช้กล้องดิจิทัลคอมแพ็คก็สามารถถ่ายภาพออกมาได้สวยงามเหมือนกัน

นอกจากนี้ ทางสถาบันฯ ยังได้ร่วมกับบริษัท แคนนอน จัดการอบรม “การถ่ายภาพดาราศาสตร์เบื้องต้น” เพื่อถ่ายทอดเทคนิค เคล็ดลับการถ่ายภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ จากทีมวิทยากรของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะจัดอบรมในวันที่ 10 ม.ย.54 ณ เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ ชั้น 9 บริษัท แคนนอน สำนักงานใหญ่ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมอบรมได้ที่ www.narit.or.th และ www.cannon.co.th รับจำนวนจำกัดเพียง 100 คน เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี นอกจากการประกวดภาพถ่ายแล้ว ดร.ศรันย์ บอกว่า ทาง สดร. ยังได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่ผ่านการประกวดในปี 2553 รวมทั้งภาพถ่ายทางดาราศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่หาชมได้ยากกว่า 40 ภาพด้วยกัน โดยภาพทั้งหมดจะจัดแสดง ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อาคารจัตุรัสจามจุรี กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ถึง 8 มิ.ย.54  สอบถามรายละเอียดโทร 0-5322-5569
ดร.ศรันย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  (ขวา) และนายนิฐิวัฒน์ วัจนวรานันท์ ผู้จัดการฝ่ายขาย ส่วนงานคอนซูมเมอร์ อิมเมจจิ้ง แอนด์อินฟอร์เมชั่น บริษัท แคนนอน  มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด  (ขวา)  ได้แถลงข่าวจัดประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย” ประจำปี 2554  ในวันที่ 25 พ.ค. 54  ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี กรุงเทพฯ
“มหัศจรรย์สุริยุปราคา”  ภาพถ่ายดาราศาสตร์จากการประกวดปี 2553
“ประสาทแสงดาว”   ภาพถ่ายดาราศาสตร์จากการประกวดปี 2553
ดวงจันทร์กับต้นกระบองเพชรซากุอาโร” ภาพจาก “ Stefan Seip” ประเทศสหรัฐอเมริกา
“ทางช้างเผือกเหนือค่ายพักแรม”   ภาพถ่ายดาราศาสตร์จากการประกวดปี 2553
“หลุมอุกกาบาต แบริงเกอร์ (Barringer crater) มลรัฐแอริโชนา สหรัฐอเมริกา  ถ่ายเมื่อ 21 ส.ค. 53 โดย ดร.ศรันย์  โปษยะจินดา
กำลังโหลดความคิดเห็น