ต่อยอดนำสื่อนิวเคลียร์สร้างสรรค์ที่ชนะการประกวด นำเผยแพร่ทำกิจกรรม 20 โรงเรียน ผ่านโครงการ “สมรภูมิไอเดียเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทั่วไทย” ทั้งเกม เพลง หนังสือ สอดแทรกความรู้และประโยชน์นิวเคลียร์ พร้อมออกอากาศในรายการสมรภูมิไอเดีย 6 ตอน
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับรายการ "สมรภูมิไอเดีย" เปิดโครงการ “สมรภูมิไอเดียเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทั่วไทย” ภายใต้แนวคิด “ประเทศก้าวไกล คนไทยรู้ค่า ประโยชน์นิวเคลียร์” โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนปลายและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ถือเป็นการต่อยอดจากการประกวด “สื่อสร้างสรรค์ เทคโนโลยีนิวเคลียร์” ในปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่ง นายสิทธิพร หิรัญกุล ผู้บริหารฝ่ายผลิตรายการสมรภูมิไอเดีย เปิดเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 54 ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า วท. ว่า ปีนี้ได้นำผลงานสื่อนิวเคลียร์ที่ชนะเลิศจากการประกวดในปีที่แล้ว มาทำกิจกรรมเผยแพร่ และส่งมอบให้โรงเรียนจำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ในระหว่างทำกิจกรรมนำสื่อสารสรรค์ที่ชนะการประกวดไปให้แก่เด็กๆ โรงเรียนต่างๆ นั้น ทางรายการ "สมรภูมิไอเดีย" ก็จะบันทึกเทป และแพร่ภาพกิจกรรมลงไปในช่วงที่ 3 ของรายการ ซึ่งมีประจำทุกวันศุกร์ เวลา 15.55 - 16.20 น. ทางช่อง 3 โดยแบ่งเป็น 6 ตอนๆ ละ 6 นาที โดยจะเริ่มที่ ร.ร.สันติราษฎร์วิทยาลัย กรุงเทพฯ ในวันที่ 25 พ.ค.54 และสิ้นสุดโครงการในวันที่ 21 ก.ค.54 ที่สยามดิสคัฟเวอรี่
ทางด้าน ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รมว.วท. บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า โครงการในครั้งนี้ เน้นกลุ่มเป้าหมายคือเด็กประถมตอนต้นถึงมัธยมตอนปลาย แต่หากได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคสังคม จะขยายสื่อการเรียนรู้นิวเคลียร์ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศด้วย เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้ความเข้าใจเรื่องของนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับ สื่อสร้างสรรค์ที่จะนำไปเผยแพร่ตามโครงการนี้ มี 5 ชุดด้วยกัน ทั้งในรูปแบบเกมและหนังสือการ์ตูน เช่น เกมส์ “มะกึ๊ก (Makuek) กับเทคโนโลยีนิวเคลียร์” ที่มีตัวละคร "มะกึ๊ก" จากต่างดาวเป็นเพื่อนผจญภัยพาไปผ่านด่านเพิ่มความรู้พลังงานนิวเคลียร์ และ “เฮลโล นิวเคลียร์ (Hello Nuclear)” ที่ผู้เล่นจะได้ออกเดินทางค้นหาข้อมูล พบปะผู้คน ผ่านมินิเกมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกมทำหมันแมลงวันทอง, เกมx-ray,เกมหารอยรั่วท่อน้ำ และเกมตรวจกระเป๋าเดินทาง
นอกจากเกมคอมพิวเตอร์แล้ว เกมกระดานหรือบอร์ดเกมก็เป็นสื่อสร้างสรรค์อีกชุดที่ชนะการประกวด คือ “เกมตัวต่อ รวม คาย สลาย ดูด” ที่ประยุกต์ใช้บล็อกและสีสันดึงดูดใจในการให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของนิวเคลียร์ อีกทั้งยังมี “เพลงซื่อๆ สื่อความหมาย” ที่นายสิทธิพร บอกว่า เป็นการนำความรู้เรื่องพลังงานนิวเคลียร์ให้สื่อสารเด็กด้วยเนื้อหาเพลงที่เข้าใจง่าย และสามารถร้องตามได้ด้วย
สื่อสร้างสรรค์อีกชนิดที่ขาดไม่ได้ในการให้ความรู้คือหนังสือ “มหัศจรรย์นิวเคลียร์ (AmaZing Nuclear)” เป็นการ์ตูนที่มีสีสันสวยงาม เล่าเรื่อง “ด.ช.ไม้” ที่ได้ดูภาพยนตร์ยอดมนุษย์ที่ถูกสารรังสีทำให้กลายพันธุ์ จนมีพลังพิเศษไปปราบเหล่าร้าย เมื่อเขานำมาคุยโวในห้องเรียน แต่ “ด.ญ.น้ำ” กลับเห็นว่าสารรังสีมีแต่อันตราย ทำให้ “ครูแว่น” อธิบายเรื่องสารรังสี ทั้งกลไกการแผ่ และที่มีในธรรมชาติรอบๆ ตัวเราอีกมากมาย
อย่างไรก็ดี สื่อนิวเคลียร์ที่นำไปเผยแพร่นั้น นายสิทธิพรหวังว่า จะทำให้เด็กได้เข้าใจในเรื่องนิวเคลียร์มากขึ้น ซึ่งนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นเรื่องของพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์ ด้านอาหาร ตลอดจนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น.