xs
xsm
sm
md
lg

ฟังความคาดหวังผู้ใหญ่สูงวัย ในวงการวิทยาศาสตร์ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พงศ์เทพ อันตะริกานนท์   ที่ปรึกษาอนุกรรมมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เป็นคนที่รู้จักคิด ช่างสังเกต ต้องเป็นผู้นำทางความคิดอีกด้วย
“วันผู้สูงอายุ” ที่จะเวียนมา พร้อมกับเทศกาลสงกรานต์ เป็นอีกวาระที่เราจะได้ระลึกถึงผู้หลักผู้ใหญ่ แล้วผู้อาวุโสในวงการวิทยาศาสตร์ไทยมีความคาดหวังอะไร และอยากจะฝากอะไรถึงสังคมและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่บ้าง?

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักวิทยาศาสตร์อาวุโส แนะว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ต้องมีระบบคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และหมั่นแสวงหาองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา เปิดตัวเปิดใจให้มาก โดยเฉพาะด้านสื่อสารมวลชน ที่ต้องให้ข้อมูลในเรื่องวิทยาศาสตร์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ตรงนี้ให้กับประชาชนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ ทั้งยังช่วยปลูกฝังความคิดทางด้านวิทยาศาสตร์ให้คนในสังคมได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกมาก ที่ยังไม่กล้าเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ออกไปสู่ภาคสังคม เพราะกลัวว่านักสื่อสารมวลชน จะสื่อความหมาย หรือสื่อข่าวที่ผิดพลาดออกไป

ทางด้าน ดร.พงศ์เทพ อันตะริกานนท์ ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งนักวิทยาศาสตร์อาวุโส ได้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ต้องเป็นคนที่รู้จักคิด ช่างสังเกต อยู่ตลอดเวลา ตลอดจนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และที่สำคัญต้องมีความพยายามอย่างไม่สิ้นสุด ต้องเรียนรู้ ทำงาน คิดทำสิ่งใหม่อยู่เสมอ ทั้งยังต้องเป็นผู้นำทางความคิดในทุกเรื่อง เพื่อนำมาเผยแพร่ให้คนในสังคมได้รับทราบ และนำไปพัฒนาประเทศต่อไป

นายปฐม แหยมเกตุ อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้ฝากถึงเด็กและเยาวชน ที่จะก้าวไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตด้วยว่า การจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีนั้นจะต้องมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์เสียก่อน อย่าคิดว่าเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากเรียนแล้วไม่มีงานทำ มันไม่ใช่ หากทุกคนมีทัศนคติที่ดีแล้วเรื่องวิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับทุกคนแน่นอน

"นักวิทยาศาสตร์ที่ดี ต้องสนใจชีวิตประจำวันเมื่อเกิดปัญหาต้องวิเคราะห์ได้ว่าอะไรเกิดขึ้น จากนั้นจึงหาทางแก้ปัญหา ไม่ใช่มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของโชคชะตาราศี" นายปฐมกล่าว 

อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เสริมว่า นักวิทยาศาสตร์นั้นมีอยู่ทุกวงการ ทุกส่วนของสังคม สามารถเชื่อมโยงผูกพันกันได้ อาทิ คนที่อยู่ต่างจังหวัด หากจะปลูกต้นไม้ให้งอกงามดี ก็ต้องศึกษาว่าต้นไม้ชนิดนี้เหมาะกับปุ๋ยแบบไหน ก็ต้องนำระบบคิดทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย หรือในเรื่องของสุขภาพ ทำอย่างไรไม่ให้ฟันผุ ก็ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นต้น วิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่กว้างขวางและทุกคนเข้าถึงได้

แล้ววิทยาศาสตร์ไทยควรจะไปทิศทางไหน?

ดร.พงศ์เทพ ให้คำตอบว่าปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยจริงๆ นั้นมีเพียง 2,000-3,000 คนเท่านั้น (หมายถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัย) ซึ่งยังมีน้อยมากสำหรับประเทศไทย เพราะประเทศเราต้องการนักวิทยาศาสตร์ในการบริหารประเทศทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือภาคสังคม เนื่องจากว่านักวิทยาศาสตร์นั้นมีความคิดที่เป็นระบบ มีการวางแผนอย่างดี และหากเกิดปัญหา ก็นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะนักวิทยาศาสตร์จะรู้ว่าปัญหานั้นมาจากส่วนไหน จึงเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุอย่างในปัจจุบัน

“ผมมองว่าปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือ ปัญหาจราจร คนส่วนใหญ่มักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะไม่ได้ใช้หลักคิดทางวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างจริงจัง ปัญหาเหล่านี้จึงยังไม่หมดไปจากสังคม” ดร.พงศ์เทพกล่าว

ดร.พงศ์เทพ ยังเปิดมุมมองด้วยว่า รัฐบาลควรควรออกกฎหมายอย่างจริงจังในเรื่องของการทำให้วิทยาศาสตร์เป็นวิชาชีพ อาทิ หมอ เภสัชกร หรือครู เพราะเมื่อมีกฎหมายออกมาเป็นวิชาชีพแล้วก็จะทำให้มีตำแหน่งที่จะรองรับนักวิทยาศาสตร์ จึงทำให้เยาวชนสนใจที่จะมาศึกษาทางด้านนี้มากยิ่งขึ้น

สำหรับคำตอบของ นายปฐม นั้นมองว่าประเทศไทยนั้นมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ในทุกด้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ มนุษย์ หรือระบบการศึกษา แต่สิ่งที่ต้องเข้ามาเป็นตัวเสริมนั้นคือเรื่องของการสร้างความรู้สึกที่ดีกับวิทยาศาสตร์

“จากคำพูดที่บอกว่า “ประเทศชาติจะเจริญไม่ได้ถ้าไม่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ผมมองว่าสิ่งที่จะทำให้สังคมตระหนักได้นั้นจะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ คือสร้างเจตนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งสังคมไทยยังมีน้อยมากขณะนี้” นายปฐมกล่าว

“ทุกคน ทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาคเอกชน รัฐบาล หรือภาคประชาชน จึงต้องปลูกจิตสำนึกให้เด็กคิดในเรื่องของวิทยาศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น ต้องสร้างสปิริตนักวิทยาศาสตร์ นักสื่อสารมวลชนก็เช่นกันที่จะต้องเผยแพร่ข่าวสาร โดยเฉพาะเรื่องของการทำงานขององค์กรต่างๆ ว่าหน่วยงานไหนให้บริการด้านอะไรบ้าง เพราะประชาชนจะได้เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น” ที่ปรึกษาอนุกรรมมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อธิบาย

ทั้งนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ให้ความเห็นด้วยว่า ปัจจุบันนั้นนักวิทยาศาสตร์ไทยทางด้านการวิจัยยังสามารถผลิตผลงานที่เป็นสากลได้ แต่เฉพาะบางสาขา ที่เด่นคือ การแพทย์ ชีวเคมี ยอมรับว่า ทางด้านฟิสิกส์ ยังไม่เด่นมาก แต่ยังสามารถไปถึงสากลได้ในทางด้านทฤษฎี แต่การทดลองยังไปไม่ถึง

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกอีกว่า ปัจจุบันมีการแข่งขันทางด้านองค์ความรู้มากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันเข้าเรียนทางมหาวิทยาลัย จะสังเกตได้ว่ามัธยมศึกษาตอนต้น เด็กจะให้ความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาก พอมาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก็ยังสนุกสนานกับการเรียนวิทยาศาสตร์อยู่ พอเริ่มเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 5-6 เด็กก็จะเริ่มสนใจน้อยลงและห่างออกไป เอาเวลาไปคิดถึงอนาคตและในการสอบเข้าเรียนมากยิ่งขึ้น จึงไม่ได้ใส่ใจในการหาองค์ความรู้ หรือเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ตรงนี้ทำให้การเรียนรู้หรือองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ถูกทำลายลงไป

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการให้ความสำคัญกับเรื่องวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยนั้นไม่เพียงแต่ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาดูแล หรือเข้ามารับผิดชอบ แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะตัวเอง ที่ต้องใส่ใจเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์จะทำให้คนไม่งมงาย รู้ที่มาที่ไปของปัญหา และทำให้เป็นคนที่มีเหตุเป็นผลด้วย

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ในระหว่างกิจกรรมวันพบนักวิทยาศาสตร์อาวุโส เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2554 ที่ทาง วท. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 54 ที่ผ่านมา โดยภายในงานมีนักวิทยาศาสตร์อาวุโส อดีตผู้บริหารและข้าราชการของวท. มาร่วมงานที่ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล  นักวิทยาศาสตร์อาวุโส  แนะว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีต้องมีระบบคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และต้องเปิดใจให้สื่อสารมวลชนในการให้ข้อมูลเรื่องวิทยาศาสตร์
นายปฐม  แหยมเกตุ อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ บอกว่าการก้าวไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตนั้นอย่างแรกต้องมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องของวิทยาศาสตร์เสียก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น