xs
xsm
sm
md
lg

จริงหรือ? “ฟูกูชิมะ” ร้ายแรงเท่า “เชอร์โนบิล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเปรียบเทียบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ก่อนสึนามิถล่ม (บน) และระหว่างถูกถล่มด้วยสึนามิ (ล่าง) ... (ภาพรอยเตอร์)
เป็นเวลาร่วมเดือนแล้ว ที่ภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิซัดถล่มญี่ปุ่น และยังกระหน่ำตามมาด้วยความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในเมืองฟูกูชิมะที่อยู่ติดชายฝั่ง แม้จะพยายามกู้วิกฤติ แต่ดูเหมือนสถานการณ์ไม่สงบลงง่ายๆ จนทางการญี่ปุ่นออกมายกระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ครั้งนี้ ให้สูงสุดเทียบเท่าเชอร์โนบิล

ทั้งการหลอมละลายบางส่วน (partial meltdown) ของเตาปฏิกรณ์ 3 แห่ง และที่บ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วอีกอย่างน้อย 2 แห่ง และยังมีการระเบิดจากการสะสมของก๊าซไฮโดรเจนอีกหลายครั้ง ทำให้ทางการญี่ปุ่นออกมายกระดับความรุนแรงของสถานการณ์ขึ้นเป็นระดับ 7 ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES: International Nuclear Event Scale) ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงเดียวกับเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (Chernobyl)

ตอนนี้ เหตุการณ์ที่ฟูกูชิมะถูกระบุอย่างเป็นทางการให้เป็น “อุบัติเหตุร้ายแรง” มากกว่าเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าทรีไมล์ไอส์แลนด์ (Three Mile Island) 100 เท่า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ อันเกิดจากพลเรือนที่รุนแรงที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งปลดปล่อยวัสดุกัมมันตรังสี ที่ส่งผลต่อสุขภาพในวงกว้างออกมา และยังส่งผลกระทบต่อสุขแวดล้อม

ทั้งนี้ เดิมทีความรุนแรงของสถานการณ์อยู่ในระดับ 5 และเมื่อได้รับการยกระดับเป็น 7 ทำให้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ทั้งจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า เป็นหากจะยกระดับฟูกูชิมะให้เทียบเท่าเชอร์โนบิลนั้นมากเกินไป เพราะลักษณะเหตุการณ์ของทั้ง 2 แห่งยังไม่ใช่แบบเดียวกัน

ไซแอนทิฟิกอเมริกันซึ่งรายงานเรื่องนี้ระบุว่า การยกระดับความรุนแรงนี้ ไม่ได้หมายความว่า มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เสียหาย แม้ว่ายังคงมีความพยายามให้ความเย็นแก่แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีใดๆ หลุดรอดออกไปมากกว่านี้

ทว่า การยกระดับความรุนแรงดังกล่าว หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ร้ายแรงกว่าเหตุการณ์ที่ได้ยอมรับเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้

สำหรับสิ่งเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะนี้เป็น 1 ใน 12 เหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ ที่เกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก นับแต่การถดถอยของยุคปรมาณู (Atomic Age) ตั้งแต่ปี 1957 เป็นต้นมา

“ตอนนี้สถานการณ์ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ กำลังคงที่ตามลำดับ ปริมาณการปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีกำลังลดลง” นาโอโตะ คัง (Naoto Kan) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2011

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่าเมื่อวันที่ 14 มี.ค.และ 15 มี.ค.นั้น ได้เกิดการระเบิดของก๊าซไฮโดรเจนที่สะสมอยู่ในเตาปฏิกรณ์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เสียหายนี้ ได้ปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมาหลายหมื่นเทราเบคเคอเรล (terabecquerel) หรือหลายหมื่นล้านล้านเบคเคอเรลแล้ว โดย 1 เบคเคอเรลนั้น คือการสลายตัวทางรังสีของวัตถุ ซึ่งเท่ากับการสลายตัวของนิวเคลียส 1 นิวเคลียสต่อ 1 วินาที

ทางคณะกรรมการความปลอดภัยนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (Nuclear Safety Commission of Japan) ประเมินว่า มีไอโอดีน-131 ถูกปล่อยออกมาจากเตาปฏิกรณ์ที่เสียหาย 3 แห่ง ประมาณ 1.7 x 10 17 เบคเคอเรล ส่วนซีเซียม-37 ถูกปล่อยออกมาประมาณ 1.2 x 1016 เบคเคอเรล

แต่ทางสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Nuclear and Industrial Safety Agency: NISA) ประกาศระดับซีเซียมรังสีที่ต่ำกว่านี้

ซีเซียมรังสีนั้น คงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานหลายสิบปี และเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ อีก หากกลืนกินหรือรับเข้าสู่ร่างกาย

ปริมาณสารรังสีสะสมที่ปลดปล่อยออกมาจนถึงตอนนี้เท่ากับ 1.8 ล้านเทราเบคเคอเรล ซึ่งเพียงพอที่ยกเป็นระดับ 7 ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ และการปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีนี้ ได้ทำให้พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นกลายเป็น “ฮอตสปอต” ของการปล่อยรังสี อย่างเช่นหมู่บ้านอิวาเตะที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 30 กิโลเมตร

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังระบายน้ำที่ปนเปื้อน 11,500 ตันลงทะเลรอบๆ อีกทั้งยังพบระดับรังสีสูงเกินปกติ ในปลาที่จับขึ้นมาจากชายฝั่งระหว่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ และโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ดี ไซแอนทิฟิกอเมริกันระบุว่า เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลนั้น รุนแรงกว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันมาก เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลนั้น เกิดเพลิงไหม้แท่งกราไฟต์ในเตาปฏิกรณ์ ซึ่งได้ปลดปล่อยสารรังสีกระจายไปรอบๆ เตาปฏิกรณ์ 30 กิโลเมตร แล้วยังพ่นสารรังสีสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ที่ต่อมาได้พัดพาสารรังสีไปไกลถึง 500 กิโลเมตร ในยุโรปและพื้นที่ไกลกว่านั้น

ประมาณว่า มีสารรังสีจากเหตุการณ์เชอร์โนบิลถูกปลดปล่อยออกมา 14 ล้านเทราเบคเคอเรล และทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดของโลก และนั่นหมายความว่า มีสารรังสีที่ปลดปล่อยออกมาจากเตาปฏิกรณ์ที่ร้อนจัด ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแล้วราว 10% ของปริมาณที่ปล่อยออกมาจากเหตุเชอร์โนบิล

ทว่า เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าที่ฟูกูชิมะและบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วที่อยู่รอบๆ ยังคงปล่อยสารรังสีออกมาอย่างต่อเนื่อง และในไม่ช้าก็เร็ว เหตุการณ์ครั้งนี้จะแซงหน้าเหตุการณ์ในเชอร์โนบิล อย่างที่บริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์โค (Tokyo Electric Power Co.) หรือเท็ปโก (TEPCO) เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ได้ยอมรับ ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา

จากการประชุมของอุตสาหกรรมปรมาณูญี่ปุ่น (Japan Atomic Industrial Forum) ระบุว่า ขณะที่มีความพยายามยืนหยัดต่อสู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ แท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายได้โผล่พ้นน้ำออกมา “บางส่วนหรือทั้งหมด” แล้ว

ท้ายที่สุดกรณีของฟูกูชิมะ ก็จะคล้ายกรณีเชอร์โนบิล นั่นคือ เตาครอบปฏิกรณ์จะถูกฝังด้วยคอนกรีต และบริเวณรอบๆ จะถูกกันเป็นเขตหวงห้ามเพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์เข้าไป.
ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกิชิมะ ไดอิจิ หมายเลข 3 ที่เสียหาย (รอยเตอร์)
ภาพถ่ายทางอากาศโดยยานบินไร้คนขับ (ยูเอวี) เมื่อ เผยให้เห็นความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ หมายเลข 3 (ซ้าย) และ 4 (ขวา) และเห็นควันฟพวยพุ่ง (เอเอฟพี)
คนงานของเท็ปโกกำลังควบคุมรถยกและรถตักไร้คนขับ จากห้องควบคุมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เพื่อเคลื่อนย้ายซากความเสียหาย (เอเอฟพี)
ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตรวจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ใกล้ๆ โรงไฟฟ้านิวเคียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (เอเอฟพี)
ชาวยูเครนจากเมืองนาโรไดจิซึ่งเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลเข้ารับการรักษาพยาบาล เมืองดังกล่าวเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์เมื่อ 25 ปีก่อน (เอเอฟพี)
ภาพถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์เมื่อปี 1986 เผยให้เห็นความเสียหายของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลหมายเลข 4 หลังเกิดระเบิดเมื่อ 26 เม.ย.1986 และเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น