xs
xsm
sm
md
lg

Analysis: ผู้เชี่ยวชาญชี้ “โตเกียว” ต้องปรับแผนรับมือ “แผ่นดินไหว” หลังญี่ปุ่นเผชิญภัยธรรมชาติครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ย่าน กินซา ในกรุงโตเกียววานนี้(9)ปราศจากแสงสียามค่ำคืน หลังญี่ปุ่นต้องลดการใช้ไฟฟ้าลงสืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม
เอเจนซีส์ - ชาวญี่ปุ่นนับหมื่นคนจะต้องจบชีวิตลง อีกนับแสนได้รับบาดเจ็บ บ้านเรือนพังเสียหายเกือบ 1 ล้านหลัง ประชากรหลายล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย ยังไม่นับรวมมูลค่าเศรษฐกิจที่จะอันตรธานไปถึง 1 ใน 5

ทั้งหมดคือ คำพยากรณ์ผลกระทบ หากกรุงโตเกียวต้องประสบแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภัยธรรมชาติ ระบุว่า มีโอกาสเกิดขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์ในระยะ 30 ปีข้างหน้า

เจ้าหน้าที่ฝ่ายแผนงานของโตเกียว ใช้ความพยายามมาตลอดหลายสิบปี เพื่อลดผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีมาตรฐานการก่อสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหวที่ดีที่สุดในโลก

แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ซึ่งส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา บางคนจึงเชื่อว่า ถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นจะต้องเตรียมรับภัยธรรมชาติที่หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ห่างกรุงโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 300 กิโลเมตร เป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้ชาวเมืองรับรู้ถึงพิษสงของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แรงสั่นสะเทือนส่งผลให้ระบบรถไฟเป็นอัมพาต สัญญาณโทรศัพท์ขัดข้อง ไฟฟ้าดับ และอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น นม หรือขนมปัง ก็เริ่มขาดแคลน

“หลายคนบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย แต่ผมกลับเชื่อว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเตรียมรับสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาเหล่านี้” ฮิเดโอะ ฮิกาชิโกกุบารุ ผู้สมัครอิสระในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว ซึ่งจัดขึ้นวันนี้ (10) กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญ ต่างระบุว่า กรุงโตเกียวจำเป็นต้องทบทวนแผนรับมือภัยธรรมชาติ รวมถึงวิธีแก้ไขหากเกิดความเสียหายกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อื่นๆที่อยู่ใกล้โตเกียวมากกว่าโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ
ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปประท้วงที่สำนักงานของเท็ปโกในกรุงโตเกียววันนี้(10) เพื่อกดดันให้รัฐบาลยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์
“หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงกว่านี้ที่โตเกียว เราอาจต้องเผชิญกับหายนะ” ทากาอากิ คาโตะ อาจารย์จากสถาบันนานาชาติเพื่อวิศวกรรมความปลอดภัยในเขตเมือง มหาวิทยาลัยโตเกียว และหนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านภัยธรรมชาติของรัฐบาลญี่ปุ่น ระบุ

“การเตรียมความพร้อมของเรายังไม่เพียงพอสำหรับแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ถึงแม้จะเกิดความเสียหาย และประชาชนต้องเดือดร้อนบ้าง แต่ก็ยังมีทางฟื้นฟูได้” คาโตะ กล่าว

“แต่เราจำเป็นต้องทบทวนนโยบาย เพื่อช่วยจำกัดความเสียหายและลดความสับสนวุ่นวาย แม้จะเกิดแผ่นดินไหวถึงระดับ 8.0 ก็ตาม”

โตเกียวเคยเผชิญแผ่นดินไหวขนาด 7.9 เมื่อปี 1923 ซึ่งทำให้สิ่งก่อสร้างในเขตเมืองหลวงและเมืองโยโกฮามาพังพินาศ และมีประชาชนเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 140,000 คน

แต่ในปัจจุบัน แรงสั่นสะเทือนเพียง 7.3 ก็อาจนำความเสียหายย่อยยับมาสู่มหานครแห่งนี้ ซึ่งเป็นบ้านของพลเมืองราว35 ล้านคนจาก 128 ล้านคนทั่วประเทศ และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจราว 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงใต้นครโตเกียว จะทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 11,000 คน บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 210,000 คน พลเมือง 7 ล้านคนจะต้องอพยพ และจะสร้างความเสียหายถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1 ใน 5 ของมูลค่าเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูบ้านเมืองจะกลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับประเทศญี่ปุ่นที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

“ญี่ปุ่นยังมีเงินออมส่วนเกินมากพอที่จะเยียวยาความสูญเสีย(ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) แต่ถ้าเกิดความเสียหายที่โตเกียวร่วมด้วย ก็อาจต้องอาศัยเงินทุนจากต่างชาติ” เจสเปอร์ โคลล์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเจพีมอร์แกน ณ กรุงโตเกียว กล่าว
ภาพความเสียหายของอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ที่สำนักข่าว จิจิ เพรส เผยแพร่วานนี้(9)
คำถามข้อหนึ่ง ก็คือ ญี่ปุ่นจะจัดการอย่างไรหากเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าซึ่งอยู่ใกล้กรุงโตเกียว เช่น โรงไฟฟ้าฮามาโอกะ ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกเฉียงใต้เพียง 200 กิโลเมตร

“ขณะนี้ยังไม่มีแผนรับมือหากสารกัมมันตรังสีแผ่กระจายไปทั่วบริเวณ ประชาชนอาจต้องการหลบหนีออกจากโตเกียว แต่คงไปไม่ได้พร้อมกันทั้งหมด เราอาจต้องอพยพเด็กๆ ออกไปก่อน เหมือนในช่วงสงคราม” คาโตะ กล่าว

ความหวั่นวิตกต่อภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในเมืองหลวง ทำให้ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง เสนอให้ตั้งรัฐบาลเงาขึ้นในเมืองอื่นด้วย

“เราจำเป็นต้องพิจารณาว่า จะสามารถกระจายอำนาจของรัฐบาล หรือตั้งระบบสนับสนุนขึ้นทางภาคตะวันตกของประเทศได้หรือไม่” ทากาโยชิ อิรากาชิ อาจารย์มหาวิทยาลัยโฮเซอิ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ กลับมองว่าเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทต่างๆในโตเกียวกำลังทบทวนแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องหลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อเดือนที่ผ่านมา

“คุณต้องเข้าใจว่าอะไร คือ กลไกที่ทำให้โตเกียวเจริญเติบโต และเพราะเหตุใดบริษัทต่างๆถึงยอมเสี่ยงทำธุรกิจที่นี่ นั่นก็เพราะกระบวนการตัดสินใจทุกอย่างอยู่ที่เมืองนี้” ฟูอาร์ด เบ็นดิมาราด หัวหน้าองค์การความริเริ่มด้านแผ่นดินไหวและเมืองใหญ่ (Eathquakes and Megacities Initiative) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนการเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ กล่าว

“ท้ายที่สุด การยอมรับความเสี่ยงก็คือส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ เพราะไม่มีที่ไหนในญี่ปุ่นที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว”
กำลังโหลดความคิดเห็น