xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจคนงานผู้กล้า อาสากลับมา “กู้วิกฤต” โรงไฟฟ้าเพื่อประเทศชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพความเสียหายของโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา
เอเอฟพี - หลังจากวันที่สึนามิซัดถล่มโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ผ่านพ้นไป 3 สัปดาห์ ฮิโรยูกิ โคโนะ ตัดสินใจกลับเข้าไปในเขตภัยพิบัติอีกครั้ง เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยยับยั้งการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

โคโนะ เจ้าหน้าที่ควบคุมรังสีวัย 44 ปี ซึ่งคร่ำหวอดกับวงการอุตสาหกรรมนิวเคลียร์มาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น อาสารับหน้าที่ซึ่งหลายคนปฏิเสธ แม้จะทราบดีว่า ภารกิจครั้งนี้อาจเป็นงานชิ้นสุดท้ายที่เขาจะได้ทำ

“ว่ากันตามตรง ไม่มีใครอยากเข้าไปหรอกครับ” โคโนะ ให้สัมภาษณ์ที่ศูนย์ผู้อพยพเมืองคาโซะ ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นที่พำนักชั่วคราวของเขามาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม

“ระดับกัมมันตภาพรังสีที่โรงไฟฟ้าสูงอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับเวลาปกติ ผมรู้ดีว่าไปคราวนี้ สภาพร่างกายของผมคงไม่แข็งแรงพอจะทำงานในโรงไฟฟ้าได้อีกต่อไป”

โคโนะ ทำงานที่โรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ มานานกว่าทศวรรษ และตัดสินใจอพยพออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ แต่อีกครึ่งเดือนให้หลัง เขาก็ได้รับอีเมลติดต่อจากบริษัทอย่างที่คาดไว้

“โปรดทราบ เราขอให้ท่านกลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่โรงไฟฟ้า จะได้หรือไม่?” อีเมลจากบริษัทผู้รับช่วงสัญญาจาก เท็ปโก ระบุ

ด้วยความที่เป็นโสดและไม่มีบุตรภรรยาต้องดูแล โคโนะ จึงคิดว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องรับภารกิจดังกล่าว

“การสลับเวรทำงานที่โรงไฟฟ้าค่อนข้างลำบากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนของผมก็มีครอบครัวต้องดูแลทั้งนั้น” โคโนะ กล่าว

แต่ โคโนะ ไม่ใช่แค่พนักงานของโรงไฟฟ้าเท่านั้น เขายังเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัวด้วย และเมื่อแจ้งให้พ่อแม่ทราบว่าจะกลับไปทำงานอีกครั้ง เขาจึงพยายามพูดถึงความเสี่ยงให้น้อยที่สุด แต่ก็ไม่อาจหลอกลวงพวกท่านได้

บิดา ของโคโนะ ซึ่งเคยเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่ ฟุกูชิมะ ไดอิจิ อยู่หลายปี บอกให้เขาทำตามหัวใจตัวเอง ส่วนมารดากล่าวเพียงว่า “ไปแล้วรีบกลับมาให้เร็วที่สุดล่ะ”
เจ้าหน้าที่กำลังฉีดเรซินใกล้กับอาคารเตาปฏิกรณ์ เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของรังสี
ขณะเกิดแผ่นดินไหววันที่ 11 มีนาคม โคโนะ อยู่ในอาคารกังหันเตาปฏิกรณ์ และรู้สึกว่าโต๊ะทำงานที่อยู่ใกล้ๆเริ่มสั่น ตอนแรกเขาคิดว่าคงมีคนล้อเล่น แต่ก็นึกขึ้นได้ว่าไม่กี่วันก่อนหน้านั้นก็มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น เขาจึงสรุปว่าคงเป็นเพียงอาฟเตอร์ช็อกเท่านั้น

แต่แล้วอุปกรณ์ทุกอย่างรอบตัวก็เริ่มสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงและเกิดเสียงลั่นเอี๊ยดอ๊าดไปทั่ว โคโนะจึงรู้ว่า นี่ไม่ใช่แค่แผ่นดินไหวธรรมดาแล้ว

คนงานโรงไฟฟ้าต่างกรูออกจากตัวอาคาร และวิ่งหนีเอาชีวิตรอดขึ้นไปบนเนินเขาใกล้ๆ

“เราได้ยินเสียงคนตะโกนว่า 'สึนามิมาแล้ว!' พอมองไปที่อ่าวก็เห็นกำแพงคลื่นสีขาวไล่หลังเรามา ผมกลัวมากเลยครับ” โคโนะ เล่า

เขาติดตามคนงานคนอื่นๆขึ้นไปบนเนินเขา เมื่อมองลงมาก็เห็นกระแสน้ำไหลท่วมเสาสูง 10 เมตรจนมิด ส่วนเตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 แห่งก็กลายเป็นเพียงก้อนหินโล้นๆที่ตั้งอยู่กลางคลื่นทะเลอันบ้าคลั่ง

ขณะที่ประชาชนต่างหลบหนีภัยพิบัติรุนแรงที่สุดของประเทศหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 คนงานโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะยังต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อควบคุมวิกฤตไว้ให้ได้

ภารกิจเร่งด่วนมีตั้งแต่การระบายน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจำนวนมหาศาล, เก็บกวาดเศษขยะรังสี, วัดระดับรังสี และเชื่อมต่อสายเคเบิลเพื่อให้ระบบหล่อเย็นกลับมาทำงานได้อีกครั้ง

โคโนะ จะปฏิบัติงานที่ศูนย์บัญชาการโรงไฟฟ้า ซึ่งตั้งอยู่บนหอคอยทนแผ่นดินไหว และจะต้องสัมผัสสารกัมมันตรังสีในแต่ละชั่วโมงเท่ากับที่คนทั่วไปได้รับในเวลา 1 ปี

“คนญี่ปุ่นเรามีสำนวนว่า 'กินข้าวถ้วยเดียวกัน' คนเหล่านี้เป็นเพื่อนที่ผมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย ผมจึงขอไปทำงานร่วมกับพวกเขา”

เพื่อนๆของ โคโนะ ต่างบอกเล่าถึงสภาพการทำงานที่กดดัน เนื่องจากรังสีแกมมาระดับเข้มข้นแพร่กระจายไปทั่วบริเวณโรงไฟฟ้า

“แม้พวกเขาจะไม่พูดตรงๆ แต่ผมก็รู้ว่า ทุกคนอยากถูกย้ายออกมาให้เร็วที่สุด”

โคโนะ จะต้องทำงานต่อเนื่องหลายวัน ก่อนที่จะได้หยุดพัก 2-3 วัน และประทังชีวิตด้วยอาหารกระป๋อง หรือขนมธัญพืชอัดแท่งที่ให้พลังงานสูง

“เราบอกกันและกันว่า ญี่ปุ่นเคยถูกทำลายย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่ 2 และนี่เป็นอีกครั้งที่ญี่ปุ่นต้องล้มลุกคลุกคลาน แม้ว่าสมรภูมิจะต่างกัน แต่พวกเราก็คือ กามิกาเซ่ ในยุคปัจจุบัน” โคโนะ กล่าว
กลุ่มพลเรือนถือป้ายต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ในกรุงโตเกียว
กำลังโหลดความคิดเห็น