xs
xsm
sm
md
lg

น้ำปนเปื้อนรังสียังไหลจากเตาปฏิกรณ์ ญี่ปุ่นยอมขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายทางอากาศเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ
เอเจนซี/เอเอฟพี - บริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ แถลงยอมรับอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์(28)ว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีความเข้มข้นสูง กำลังรั่วไหลออกมาจากอาคารเตาปฏิกรณ์เครื่องหนึ่งของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และแม้ยังคงสามารถสกัดไม่ไห้มันไหลลงทะเลที่อยู่ใกล้ๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการซึมลงใต้ดิน พร้อมกันนั้นบริษัทก็ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากบริษัทนิวเคลียร์ในฝรั่งเศสแล้ว ขณะเดียวกัน ทางด้านกลุ่มกรีนพีซออกมาแถลงว่า ตรวจพบรังสีระดับสูงที่บริเวณด้านนอกของเขตที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้เป็นเขตอพยพ

ความหวาดหวั่นเรื่องกัมมันตภาพรังสี กำลังเป็นตัวขัดขวางความพยายามที่จะกลับไปเดินเครื่องระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งได้รับความเสียหายหนักสืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน และทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายตามยอดที่ทางการญี่ปุ่นรายงานจนถึงเย็นวันจันทร์ สูงกว่า 28,000 คน

สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นและทางการฝรั่งเศสต่างแถลงเมื่อวันจันทร์ด้วยว่า โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) บริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ได้รองขอความช่วยเหลือจากกลุ่ม อาเรวา และกลุ่ม อีดีเอฟ ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการด้านนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ความเคลื่อนไหวคราวนี้ได้รับการจับตามองว่า แสดงถึงความหนักหนาสาหัสและความไม่มั่นใจเกี่ยวกับความพยายามในการเข้าควบคุมความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวขึ้นไปทางเหนือประมาณ 240 กิโลเมตรแห่งนี้

ที่ผ่านมาปัญหาไฟไหม้, การระเบิด, และการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี ได้บังคับให้พวกวิศวกรญี่ปุ่นต้องระงับความพยายามอยู่บ่อยครั้ง ในการทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวม 6 เครื่องของโรงไฟฟ้าแห่งนี้กลับมาอยู่ในภาวะเสถียร รวมทั้งเหตุการณ์ในวันอาทิตย์(27) ซึ่งปรากฏว่าได้พบน้ำที่อยู่ภายในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 มีระดับรังสีเข้มข้นมากๆ ถึงแม้ตัวเลขไม่ถึงขนาด 10 ล้านเท่าของระดับที่พบในเตาปฏิกรณ์ปกติตามที่บริษัทเท็ปโกรายงานออกมาในตอนแรกๆ แต่ตัวเลขใหม่ที่ยืนยันกันคือ 100,000 เท่าของระดับปกติก็ยังถือว่ามีความเข้มข้นสูงอยู่นั่นเอง

สันนิษฐานกันว่า การที่แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่อยู่ตรงแกนกลางของเตาปฏิกรณ์ (โดยที่ส่วนแกนกลางนี้มีหม้อควบคุมความดันหุ้มเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง) ได้เกิดการหลอมละลายเป็นบางส่วน คือสาเหตุของการที่ระดับรังสีพุ่งขึ้นสูง ถึงแม้ ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาแถลงว่า รังสีเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงถูกกักเอาไว้ภายในอาคารเตาปฏิกรณ์ ซึ่งสร้างครอบคลุมอยู่ด้านนอกของหม้อควบคุมความดัน

ทว่าหม้อควบคุมความดันของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 น่าจะเกิดการแตกร้าว และทำให้น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีไหลออกมา บริษัทเท็ปโกแถลงวานนี้ว่า น้ำปนเปื้อนรังสีความเข้มข้นสูงปริมาณมากพอดูยังไหลต่อไปยังท่อคอนกรีตใต้ดินที่อยู่ต่อออกมาจากอาคารเตาปฏิกรณ์ด้วย โดยที่เวลานี้ท่อคอนกรีตดังกล่าวกำลังใกล้ที่จะล้นแล้ว

เท็ปโกบอกว่า วัดรังสีในน้ำที่อยู่ในท่อคอนกรีตได้ที่ระดับสูงกว่า 1,000 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งเท่ากันกับระดับที่พบจากน้ำภายในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ในวันอาทิตย์ ทั้งนี้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯระบุเอาไว้ว่า ผู้ที่รับรังสีระดับนี้เพียง 1 โดสก็อาจจะเกิดอาการตกเลือดได้

พวกเจ้าหน้าที่ของเท็ปโกกล่าวว่า ท่อน้ำคอนกรีตใต้ดินดังกล่าวนี้ ไม่ได้ต่อลงสู่ทะเล ซึ่งก็คือมหาสมุทรแปซิฟิก ที่อยู่ใกล้ๆ โรงไฟฟ้า ทว่ามีความเป็นไปได้ที่น้ำปนเปื้อนรังสีอาจจะกำลังไหลซึมลงใต้ดิน

**กรีนพีซพบรังสีสูงห่างจากโรงไฟฟ้า 40 ก.ม.**

ทางด้าน “กรีนพีซ” กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติชื่อดัง แถลงว่าพวกผู้เชี่ยวชาญของตนได้ยืนยันว่า ในหมู่บ้านลิตาเตะ ที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ 40 กิโลเมตร วัดระดับกัมมันตภาพรังสีได้สูงถึง 10 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ดังนั้นทางกลุ่มจึงเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเขตพื้นที่ประกาศเป็นเขตอพยพออกไปอีก ไม่ใช่เพียงแค่ภายในรัศมี 20 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าดังที่ใช้อยู่ในเวลานี้

“เป็นที่ชัดเจนว่าประชาชนที่ยังคงอยู่ในหมู่บ้านลิตาเตะ ไม่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กๆ และสตรีมีครรภ์ ในเมื่อมันหมายความว่าพวกเขากำลังใช้เวลาแค่สองสามวัน ก็ได้รับรังสีระดับสูงสุดเท่าที่อนุญาตให้รับได้ในระยะเวลา 1 ปี” กรีนพีซกล่าวในคำแถลงของตน

เวลานี้มีประชาชนกว่า 70,000 คนถูกอพยพออกมาจากพื้นที่ 20 กิโลเมตรรอบๆ โรงไฟฟ้า และอีก 130,000 คนซึ่งอยู่ในช่วงระหว่าง 20-30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า ได้รับคำแนะนำว่าควรอพยพออกมาเสีย หรือถ้ายังจะอยู่ก็ให้อยู่แต่ภายในอาคาร

สำหรับพื้นที่ซึ่งอยู่นอกเขตอพยพออกไปนั้น ได้มีการตรวจพบรังสีสูงกว่าปกติในน้ำประปาในกรุงโตเกียว รวมทั้งยังพบอนุภาคกัมมันตภาพรังสีปลิวไปไกลมากๆ ถึงประเทศไอซ์แลนด์ทีเดียว

แต่พวกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นและผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศยังคงพูดแนะนำเป็นการทั่วไปว่า ระดับที่ตรวจพบในพื้นที่นอกโรงไฟฟ้านั้น ไม่ได้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยที่ในชีวิตประจำวันตามปกติของคนเราก็จะต้องได้รับกัมมันตภาพรังสีจากแหล่งที่มาตามธรรมชาติต่างๆ , ตลอดจนจากการไปฉายเอ็กซเรย์, หรือนั่งเครื่องบินกันอยู่แล้ว

กระนั้น กรีนพีซก็เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับว่ามีอันตรายจริงๆ และ “ยุติการเลือกเอาการเมือง มากกว่าเลือกวิทยาศาสตร์”

ทว่า ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นยังคงบอกว่า ระดับรังสีที่นอกเขตอพยพไม่ได้สูงอะไร ปัญหาอยู่ที่ว่าวิธีวัดของกลุ่มกรีนพีซนั้นเชื่อถือไม่ได้ เพราะถ้าหากมีรังสีสูงดังที่กล่าวอ้างกันจริงๆ เมื่อมาจนถึงเวลานี้ก็คงแทบไม่เหลือคนที่ยังอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้แล้ว

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระดับรังสีที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างแรง ได้บังคับให้ต้องสั่งยุติการทำงานที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 โดยที่พวกผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศเตือนว่า ญี่ปุ่นต้องเผชิญการต่อสู้อันยืดเยื้อยาวนานในการควบคุมวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี นับตั้งแต่การระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ในยูเครน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกินกว่าความสามารถของชาติใดชาติเดียวจะสามารถรับมือได้แล้ว จำเป็นที่จะต้องขึ้นไปสู่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นแล้ว” นัจเมดิน เมชคาตี แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐฯ กล่าว “ในความคิดเห็นอันไม่ค่อยมีค่าของผมนั้น เรื่องนี้มีความสำคัญมากกว่าเรื่องการสร้างเขตห้ามบินขึ้นในลิเบียเสียอีก”

ตามรายงานในเวลาต่อมาของเกียวโดและทางฝรั่งเศส เท็ปโกดูจะเห็นด้วยกับความคิดทำนองนี้ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากกลุ่มกิจการนิวเคลียร์ของแดนน้ำหอมแล้ว

**ระดับรังสีในทะเลลดฮวบ**

ทางด้านเมอร์เรย์ เจนเน็กซ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเป็นรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยซานดิเอโก สเตท ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ตอนนี้ก็คือ การที่ต้องใช้เวลานานมากในการค่อยๆ แก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ โดยที่ประกอบด้วยขั้นตอนเล็กๆ อันไม่น่าตื่นเต้นอะไรนักจำนวนมาก เพื่อจะทำให้เรื่องโดยองค์รวมเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้สิ่งที่ต้องถือเป็นข่าวดีก็คือ ส่วนแกนกลางของเตาปฏิกรณ์ทั้งหลาย ดูเหมือนจะกำลังเย็นตัวลงมาเรื่อยๆ

สิ่งที่น่าจะจัดเป็นข่าวดีอีกประการหนึ่ง เห็นจะได้แก่เรื่องระดับรังสีของน้ำทะเลตรงบริเวณด้านนอกของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ตัวเลขพุ่งไปสู่ระดับ 1,850 เท่าของระดับปกติ โดยที่ นิชิยามะแห่งสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แถลงวันจันทร์ว่า ตัวเลขดังกล่าวได้ลดฮวบลงมาแล้ว
น้ำปนเปื้อนรังสียังไหลจากเตาปฏิกรณ์ ญี่ปุ่นยอมขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส
บริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ แถลงยอมรับอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้(28)ว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีความเข้มข้นสูง กำลังรั่วไหลออกมาจากอาคารเตาปฏิกรณ์เครื่องหนึ่งของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และแม้ยังคงสามารถสกัดไม่ไห้มันไหลลงทะเลที่อยู่ใกล้ๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการซึมลงใต้ดิน พร้อมกันนั้นบริษัทก็ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากบริษัทนิวเคลียร์ในฝรั่งเศสแล้ว ขณะเดียวกัน ทางด้านกลุ่มกรีนพีซออกมาแถลงว่า ตรวจพบรังสีระดับสูงที่บริเวณด้านนอกของเขตที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้เป็นเขตอพยพ
กำลังโหลดความคิดเห็น