เอเอฟพี/เอเจนซี - นายกฯญี่ปุ่นแถลงวันอังคาร(29) แดนอาทิตย์อุทัยกำลังใช้ “ความระมัดระวังเตรียมพร้อมระดับสูงสุด” ในความพยายามเพื่อเข้าควบคุมวิกฤตนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ อย่างไรก็ดี จากการค้นพบสารพลูโตเนียมในพื้นดิน 5 จุดที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ รวมทั้งยังคงมีน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเข้มข้นไหลออกมาจากอาคารเตาปฏิกรณ์ ทำให้สถานการณ์น่าหวาดวิตกยิ่ง ทางด้านประธานาธิบดีซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ไฟฟ้าปรมาณูมากที่สุดในโลก ประกาศจะเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นเพื่อให้กำลังใจในวันพฤหัสบดี(31) ขณะที่พวกชาติเพื่อนบ้านในเอเชียทั้งจีน, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม รายงานว่าตรวจพบรังสีปริมาณไม่มากนัก ที่น่าจะถูกพัดพามาจากแดนอาทิตย์อุทัย
นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ของญี่ปุ่นแถลงต่อรัฐสภาโดยยอมรับว่า สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือราว 250 กิโลเมตร ยังคงอยู่ในสภาพ “ไม่สามารถที่จะทำนายได้” พร้อมกับให้สัญญาว่ารัฐบาลของเขาจะ “รับมือกับปัญหานี้โดยใช้ความระมัดระวังเตรียมพร้อมระดับสูงสุด”
ขณะที่สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านบางคน ได้อภิปรายตำหนิติเตียนคังอย่างรุนแรง ทั้งในเรื่องการรับมือกับภัยพิบัติคราวนี้อย่างเชื่องช้า และในเรื่องที่เขายังไม่ประกาศขยายเขตอพยพให้กว้างออกไปจากรอบรัศมี 20 กิโลเมตรห่างจากโรงไฟฟ้าที่ถูกภัยพิบัติเล่นงานจนกลายเป็นอัมพาต ถึงแม้ปัญหากัมมันตภาพรังสีรั่วไหลกำลังทำท่าร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ
พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของทางการและของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เคยตั้งความหวังไว้ว่า กำลังค่อยๆ สามารถกลับเข้าควบคุมโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้มากขึ้นเป็นลำดับ แต่ความวาดหวังดังกล่าวก็ถูกกระหน่ำโจมตีอย่างหนักหน่วง เมื่อเท็ปโกแถลงวานนี้ว่า ตรวจพบสารพลูโตเนียมในระดับที่ยังมีอันตรายเพียงเล็กน้อย ในตัวอย่างดินที่นำมาจากจุดต่างๆ ของบริเวณโรงไฟฟ้ารวม 5 จุด
พลูโตเนียมเป็นสารพลอยได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ รวมทั้งยังมีการใช้สารนี้ในระเบิดนิวเคลียร์ด้วย พวกผู้เชี่ยวชาญระบุว่าพลุโตเนียมเป็นสารที่มีฤทธิ์สูงในการก่อมะเร็ง และถือเป็นสารที่อันตรายที่สุดอย่างหนึ่งบนพื้นพิภพนี้
พวกพนักงานของเท็ปโกเชื่อว่า พลูโตเนียมเหล่านี้บางส่วนอาจจะมาจากแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วซึ่งเก็บไว้ในโรงไฟฟ้าแห่งนี้ หรือไม่ก็มาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ที่ได้รับความเสียหายหนัก โดยที่ในจำนวนเตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่องของฟูกูชิมะ ไดอิจิ มีเพียงหมายเลข 3 เท่านั้นที่ใช้แท่งเชื้อเพลิงซึ่งมีส่วนผสมของพลูโตเนียม
สำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นแถลงว่า ขณะที่ปริมาณพลูโตเนียมซึ่งตรวจพบยังไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่การพบสารเหล่านี้อาจหมายความว่า กลไกต่างๆ ที่ใช้ในการห่อหุ้มครอบคลุมแกนกลางของเตาปฏิกรณ์เอาไว้ ได้เกิดการแตกร้าวขึ้นมา
“พลูโตเนียมเป็นสารที่ปล่อยไอออกมาเมื่ออุณหภูมิขึ้นสูง แต่เนื่องจากมันเป็นธาตุหนัก ดังนั้นจึงไม่ใช่จะรั่วไหลออกมาได้ง่ายๆ” ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ รองผู้อำนวยการของสำนักงานแห่งนี้กล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าว
“ดังนั้นถ้าหากพลูโตเนียมเหล่านี้ออกมาจากเตาปฏิกรณ์ นั่นก็คือบอกกับเราว่าพวกแท่งเชื้อเพลิงได้รับความเสียหาย ยิ่งถ้าหากมันรั่วไหลออกมาจากระบบห่อหุ้มครอบคลุมที่อยู่ชั้นในด้วยแล้ว มันก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความหนักหน่วงและความร้ายแรงของอุบัติภัยคราวนี้”
ทางด้าน ซาเกโอะ มุโตะ รองประธานกรรมการบริหารของเท็ปโก แถลงว่าสารพลูโตเนียม-238, 239, และ 240 ที่ตรวจพบเหล่านี้ ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยตรวจพบในญี่ปุ่นในอดีต ในเวลาที่มีอนุภาคกัมมันตรังสีปลิวอยู่ในบรรยากาศ จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในต่างประเทศ
**ปัญหาน้ำปนเปื้อนรังสี**
เหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิซึ่งถล่มใส่พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นในวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้แก่ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ส่งผลทำให้แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ทั้งที่กำลังใช้อยู่ในส่วนแกนกลางของเตาปฏิกรณ์ และที่ใช้แล้วซึ่งเก็บอยู่ในบ่อพัก ต่างมีอุณหภูมิร้อนจัด จนเกิดกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกสู่บรรยากาศและลงไปในทะเล
เพื่อเป็นมาตรการชั่วคราวในการควบคุมวิกฤตที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ พวกวิศวกรและคนงานจึงได้เทได้ฉีดน้ำจำนวนหลายหมื่นตันเข้าไปที่เตาปฏิกรณ์เหล่านี้ ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจกันในเวลาต่อมาว่า แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เหล่านี้น่าจะได้เกิดการหลอมละลายเป็นบางส่วนด้วย
ปัญหาที่ค้นพบในช่วงไม่กี่วันหลังมานี้ก็คือ น้ำที่ฉีดสาดราดรดเหล่านี้จำนวนมากได้สะสมตกค้างอยู่ในบริเวณห้องใต้ดินของอาคารกังหันไอน้ำและเตาปฏิกรณ์ ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับเตาปฏิกรณ์ 3 เครื่อง แล้วยังมีการต่อเชื่อมกับท่อคอนกรีตใต้ดินด้วย ได้มีการตรวจพบว่าน้ำเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดในบางบริเวณ มีการปนเปื้อนรังสีอย่างเข้มข้น ทำให้เป็นการเสี่ยงภัยเกินไปที่จะให้คนงานเข้าไปใกล้ๆ เพื่อซ่อมแซมระบบหล่อเย็น ซึ่งจำเป็นต้องทำให้ใช้งานให้ได้ถ้าหากจะให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้กลับสู่ภาวะเสถียร
มีรายงานว่าเฉพาะท่อน้ำคอนกรีตใต้ดินท่อหนึ่งก็ได้เก็บน้ำปนเปื้อนรังสีเอาไว้เป็นจำนวน 6,000 ลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 2 สระเสียอีก กระนั้นก็ตาม ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาลระบุว่า เวลานี้ทางเลือกยังคงมีอยู่ทางเดียว นั่นคือการสูบน้ำเข้ามาสาดรดเตาปฏิกรณ์ต่อไป เพื่อประคับประคองไม่ให้มันร้อนจัด
จากการที่โรงไฟฟ้าของเท็ปโกประสบวิกฤตหนักหน่วงยิ่งขึ้นอีกเช่นนี้ ทำให้ราคาหุ้นเท็ปโก้ในตลาดหลักทรัพย์โตกียววานนี้ปิดลดลง 18.67% รวมแล้วนับแต่เกิดวิกฤตขึ้นมามูลค่าของหุ้นตัวนี้ได้หดหายไปร่วมๆ สามในสี่แล้ว มีรายงานข่าวจากสื่อญี่ปุ่นว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะเข้าไปถือหุ้นข้างมากในบริษัทนี้ด้วย
**ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะมาเยือน**
ฝรั่งเศสได้แสดงท่าทีสนับสนุนการต่อสู้กับวิกฤตนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ 2 คนเดินทางมาปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญของแดนอาทิตย์อุทัย นอกจากนั้นประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ก็จะเดินทางมาเยือนและพบหารือกับนายกรัฐมนตรีคัง ในวันพรุ่งนี้ด้วย
ฝรั่งเศสนับเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาพลังงานปรมาณูมากที่สุดในโลก โดยที่กระแสไฟฟ้าถึง 75% ที่ใช้อยู่ในแดนน้ำหอมผลิตจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 58 เครื่อง นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังกำลังขายเตาปฏิกรณ์ของอาเรวา อันเป็นรัฐวิสาหกิจของแดนน้ำหอมไปทั่วโลก ทั้งนี้ซาร์โกซีจะกลายเป็นผู้นำต่างประเทศรายแรกที่มาเยือนญี่ปุ่นนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวคราวนี้ขึ้นมา
อนึ่ง เมื่อวันอังคาร(29)รัฐบาลของจีน, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, และเวียดนาม ต่างรายงานว่าได้ตรวจพบกัมมันตภาพรังสีพัดปลิวมาเหนือดินแดนของพวกตน ถึงแม้ทุกประเทศต่างแถลงย้ำว่า รังสีที่ตรวจพบมีระดับเล้กน้อยมาก และไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
กระนั้นเรื่องนี้ก็กลายเป็นย้ำเตือนให้ประชาชนหลายสิบหลายร้อยล้านคนของเอเชียรู้สึกวิตกหวั่นไหวเกี่ยวกับภยันตรายอีกประการหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น หลังจากที่ได้เกิดกระแสความตื่นตระหนกเกี่ยวกับอาหารปนเปื้อนรังสีจากแดนอาทิตย์อุทัยมาก่อนแล้ว
ไม่เพียงพวกชาติเพื่อนบ้านในเอเชียเท่านั้น ยังมีการตรวจพบว่าฝุ่นกัมมันตภาพรังสีได้ปลิวไปไกลจนถึงสหรัฐฯ โดยที่พวกเจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมแถลงในวันจันทร์ว่า ตรวจพบน้ำฝนที่ตกในมลรัฐโอไฮโอ มีการปนเปื้อนรังสี แต่อยู่ในระดับเล็กน้อย