เอเอฟพี/เอเจนซี - สำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น วันนี้ (12) ประกาศยกระดับความรุนแรงของวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านฟูกูชิมะ ไดอิจิ จากระดับ 5 สู่ระดับ 7 ผู้เชี่ยวชาญชี้ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และสถานการณ์ไม่ร้ายแรงถึงขนาดนั้น
อย่างไรก็ตาม การยกระดับขั้นสูงสุดของอุบัติเหตุนิวเคลียร์ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES) ครั้งนี้เป็นเพียงภาพสะท้อนความรุนแรงเบื้องต้นของวิกฤต แต่ไม่ใช่สถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งระดับกัมมันตรังสีลดลงอย่างรวดเร็ว
“นี่เป็นเพียงการประเมินขั้นต้น และต้องการมีการสรุปขั้นสุดท้ายโดยทบวงการพลังงานปรมาณูสากลอีกครั้ง” เจ้าหน้าที่ของเอ็นไอเอสเอ หน่วยงานตรวจสอบดูแลด้านนิวเคลียร์ของรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงร่วมกับคณะกรรมการความปลอดภัยนิวเคลียร์
โฆษกสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์กล่าวว่า จากการประเมินแสดงให้เห็นว่าระดับสารกัมมันตรังสีที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะนั้นเป็นเพียง 10% ของสารรังสีที่ถูกปล่อยจากเชอร์โนบิล หรือราว 370,000 เทราเบกเคอเรล โดยมาตรฐานการวัดรังสี 1 เทราเบคเคอเรลเท่ากับ 1 ล้านล้านเบคเคอเรล
ส่วนคณะกรรมการด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญกึ่งอิสระที่คอยให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลญี่ปุ่นนั้นกลับประเมินปริมาณรังสีที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้มากกว่า ถึง 630,000 เทราเบคเคอเรลทีเดียว
อย่างไรก็ดี ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ รองอธิบดีสำนักงานความปลอดภัยดังกล่าวชี้ว่า เหตุการณ์ทั้งสองแห่งแตกต่างกันมาก เนื่องจากอุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลเป็นการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ ที่ปล่อยกัมมันตภาพรังสีระดับสูงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 29 ราย ขณะที่ฟูกูชิมะ เป็นการระเบิดจากไฮโดรเจนภายในอาคาร แต่เตาปฏิกรณ์ยังไม่บุบสลาย แม้จะพบการรั่วไหลบ้าง
ขณะที่ เมอร์เรย์ เจนเนกซ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยซานดิเอโก ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ แสดงความเห็นแย้งประกาศดังกล่าวว่า “ผมคิดว่าการยกระดับความรุนแรงเทียบเท่ากับเชอร์โนบิลนั้นมากเกินไป”
เขาระบุว่า เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลร้ายแรงเนื่องจากมีการระเบิด และไม่มีอาคารคลุมเตาปฏิกรณ์ แต่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะของญี่ปุ่นนั้นมีอาคารคลุมในสภาพดีอยู่ แม้บ่อแช่แท่งเชื้อเพลิงเกิดไฟลุกไหม้
“ผมไม่เห็นว่าทั้งสองแห่งนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน หากพวกเขาต้องการยกระดับเช่นนั้นก็ไม่เป็นไร ผมคิดว่าพวกเขามองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป” เขาเสริม
นอกจากนี้ เคนจิ ซูมิตะ อาจารย์มหาวิทยาลัยโอซากา ชี้ว่าการยกระดับขึ้นถึงขั้น 7 นั้นมีนัยทางการทูตร้ายแรง ซึ่งเท่ากับเป็นการบอกประชาชนว่าอุบัติเหตุดังกล่าวอาจสร้างปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้านของพวกเขาได้ “ผมคิดว่าระดับ 7 นั้นรุนแรงเกินไป”