เอเจนซี - รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อควบคุมการดำเนินงานของบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ท่ามกลางกระแสวิตกทั้งต่อวิกฤตนิวเคลียร์และค่าชดเชยความเสียหายที่อาจมหาศาล หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นรายงานวันนี้(1)
หุ้นเท็ปโกเปิดตลาดเพิ่มขึ้นทันที 6 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่หนังสือพิมพ์ ไมนิจิ ชิมบุน รายงานว่า รัฐบาลเตรียมอัดฉีดเงินกองทุนสาธารณะเพื่อช่วยพยุงสถานะของเท็ปโก แม้สัดส่วนการถือครองหุ้นอาจไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
“หากรัฐบาลถือครองหุ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ก็หมายความว่า กิจการเท็ปโกจะถูกโอนเป็นของรัฐ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราวางไว้” เจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุ
เท็ปโก เผชิญแรงกดดันอย่างหนักในการยับยั้งวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งระบบหล่อเย็นได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 และคลื่นสึนามิที่ซัดถล่มญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม
ความผิดพลาดหลายต่อหลายครั้งผนวกกับสัญญาณของการขาดภาวะผู้นำ ทำให้ความเชื่อมั่นของเท็ปโกลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ไมนิจิ ชิมบุน อ้างแหล่งข่าวภายในรัฐบาล ซึ่งเปิดเผยว่า “การอัดฉีดเม็ดเงินครั้งนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถควบคุมการทำงานของเท็ปโกได้ในระดับหนึ่ง”
ด้านเจ้าหน้าที่ของ เท็ปโก ยังไม่ออกมาให้ความเห็นใดๆในขณะนี้
ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ประเมินว่า เท็ปโกอาจต้องแบกรับค่าชดเชยกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากวิกฤตนิวเคลียร์ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้หลายฝ่ายคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นน่าจะเข้ามาโอบอุ้มกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแห่งนี้
แม้ว่าตามกฎหมาย เท็ปโก อาจไม่ต้องชดเชยความเสียหายอันเกิดจากภัยธรรมชาติ แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นไปได้ยากที่จะบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากกระแสต่อต้านที่รุนแรงจากสังคม ดังจะเห็นได้ว่ามีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมารวมตัวกันหน้าสำนักงานของเท็ปโกในกรุงโตเกียว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ และประณาม เท็ปโก ว่าเป็น “อาชญากร”
ล่าสุดบรรดานักลงทุนต่างวิตกกังวลยิ่งขึ้น เมื่อ มาซาทากะ ชิมิซุ ประธานบริษัท เท็ปโก ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลสัปดาห์นี้ อีกทั้ง เท็ปโก เองก็ยอมรับว่า เงินกู้ยืมฉุกเฉินจำนวน 2 ล้านล้านเยน หรือราว 720,000 ล้านบาท จากธนาคารรายใหญ่ของญี่ปุ่น อาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
นักวิเคราะห์จากธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ระบุว่า เท็ปโก อาจต้องจ่ายเงินชดเชยสูงถึง 11 ล้านล้านเยน (3.99 ล้านล้านบาท) หรือ 4 เท่าของมูลค่าหุ้นบริษัท หากวิกฤตนิวเคลียร์ยืดเยื้อต่อไปอีก 2 ปี