xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ คังระบุต้อง “รื้อ” โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ-ทบทวนแผนสร้างเตานิวเคลียร์เพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง(ขวาสุด) ยูกิโอะ เอดาโนะ โฆษกรัฐบาล(ซ้าย) และรัฐมนตรีคลัง โยชิฮิโกะ โนดะ ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่กรุงโตเกียววันนี้(31)
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง แห่งญี่ปุ่นระบุ จำเป็นต้องรื้อถอนโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งเผชิญวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของยูเครนเมื่อปี 1986 สำนักข่าวเกียวโดรายงานวันนี้(31)

คัง กล่าวกับ คาซูโอะ ชิอิ หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ ปาร์ตี ว่า โครงสร้างอาคารโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะจะต้องถูกรื้อถอนออกทั้งหมด

แม้จะผ่านเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม มานานเกือบ 3 สัปดาห์ แต่สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงได้ โดยอาคารเตาปฏิกรณ์ที่เกิดระเบิดและไฟไหม้เนื่องจากระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน ส่งผลให้มีกัมมันตรังสีรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเคยแถลงเป็นนัยว่า โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะจะปิดตัวลงทันทีที่สถานการณ์คงที่ เนื่องจากได้รับความเสียหายอย่างหนักจนยากจะใช้งานได้ต่อไป

โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เท็ปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารและเจ้าของโรงไฟฟ้าเก่าแก่แห่งนี้ ระบุเมื่อวันพุธ (30) ว่า เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1-4 จะถูกปลดระวาง เนื่องมาจากความเสียหายและน้ำทะเลจำนวนมหาศาลที่ถูกฉีดเข้าไปเพื่อลดอุณหภูมิของเตา

อย่างไรก็ตาม ทสึเนฮิสะ คัตสึมาตะ ประธานกรรมการบริหาร เท็ปโก บอกเป็นนัยว่า เตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 อาจยังใช้งานได้ต่อไป
สภาพความเสียหายของโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุดนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า จะรื้อถอนโรงไฟฟ้าแห่งนี้ทันทีที่ควบคุมสถานการณ์ได้
คาดกันว่า เท็ปโกจะต้องแบกภาระชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาล ท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชนที่ไม่พอใจวิธีจัดการปัญหาของบริษัท

มาซาทากะ ชิมิซุ ประธานบริษัทเท็ปโก ไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคมเป็นต้นมา โดยบริษัทแถลงว่า เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยโรคความดันโลหิตสูง

นายกรัฐมนตรีคัง กล่าววันนี้ (31 )ว่า วิกฤตนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลต้องทบทวนแผนที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มอย่างน้อย 14 แห่งภายในปี 2030

แผนพลังงานขั้นพื้นฐานของญี่ปุ่นที่ผ่านการรับรองเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ระบุให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ ทั้งในระยะกลางและระยะยาว โดยรัฐบาลจะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มอีกอย่างน้อย 14 แห่งภายในปี 2030 และจะสร้างให้สำเร็จก่อน 9 แห่งภายในปี 2020
กำลังโหลดความคิดเห็น