xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นหาวิธีใหม่ๆคุมวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาใช้หนทางริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการคลี่คลายวิกฤตนิวเคลียร์ ตั้งแต่การฉีดพ่นยางเรซินตามพื้นโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เพื่อดักจับอนุภาคกัมมันตรังสี, การนำเอาสิ่งทอทำจากวัสดุพิเศษมาห่อหุ้มเตาปฏิกรณ์ที่กำลังปล่อยรังสีรั่วไหลออกมา, ไปจนถึงการส่งหุ่นยนต์ทหารเข้าไปทำงานที่เสี่ยงอันตราย หลังจากวิธีเดิมๆ ซึ่งใช้มากว่า 2 สัปดาห์มีความคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าและเผชิญกับอุปสรรคใหม่ๆ ไม่ขาดสาย ทำให้หัวหน้าโฆษกรัฐบาลต้องออกมายอมรับวันพุธ(30)ว่า ไม่อาจระบุได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เมื่อใด มิหนำซ้ำล่าสุดยังมีข่าวร้ายเพิ่มเติมเข้ามาอีก นั่นคือได้ตรวจพบน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้ามีสารกัมมันตรังสีไอโอดีนพุ่งพรวดจากไม่กี่วันก่อน สู่ระดับ 3,355 เท่าของขีดสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ แถมยังมีควันลอยออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งก็ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติเช่นกัน

แรงกดดันกำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ให้ต้องมีการขบคิดสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ แบบออกมานอกกรอบ ขณะที่ ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาล ตลอดจนบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ที่อยู่ในสภาพอัมพาตภายหลังเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในวันที่ 11 เดือนนี้ ต่างออกมายอมรับว่า ไม่ทราบเลยว่าเมื่อใดจึงจะสามารถควบคุมวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้ได้

“เรายังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญๆ หลายๆ ประการ เป็นต้นว่า เหตุนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจะยุติลงได้ด้วยวิธีไหน … พูดง่ายๆ ก็คือ คาดหมายได้ว่าสถานการณ์อันยากลำบากมากๆ เช่นในเวลานี้จะยังคงดำเนินต่อไป” สึเนฮิซะ คัตสึมาตะ ประธานของเท็ปโกแถลงต่อผู้สื่อข่าว

ขณะที่สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานว่า มาตรการอย่างใหม่ๆ ที่มีการพิจารณาจะนำเอามาใช้ประการหนึ่งได้แก่ การนำเอานำสิ่งทอทำจากวัสดุพิเศษมาคลุมด้านนอกของอาคารเตาปฏิกรณ์จำนวน 3 เครื่องที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพื่อจำกัดกัมมันตภาพรังสีที่ออกมาสู่ภายนอก

ส่วนอีกแผนการหนึ่งนั้นจะนำเอาเรือบรรทุกน้ำมันที่ไม่ได้บรรทุกอะไร ไปจอดทอดสมอที่ใกล้ๆ กับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 แล้วให้คนงานสูบเอาน้ำปนเปื้อนรังสีเข้มข้นสูงที่มีปริมาณมากเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิกหลายๆ สระ ออกมาบรรจุไว้ในเรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น