เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่สำนักงานอาหารและยา หรือเอฟดีเอของสหรัฐฯ เผย ตรวจพบกัมมันตภาพรังสีจากสารรังสีไอโอดีน 131 ในตัวอย่างน้ำนมจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในปริมาณที่น้อยมากๆ
เอฟดีเอแถลงว่า ผลการตรวจตัวอย่างน้ำนมวัว ที่ได้มาจากเมืองสโปเคน ทางตะวันออกของรัฐวอชิงตัน เมื่อวันที่ 25 มีนาคมพบสารไอโอดีน-131 ในปริมาณ 0.8 พิโคคูรีต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าระดับที่ทางสสำนักงานอาหารและยากำหนดไว้กว่า 5,000 เท่า
แพทริเซีย ฮันเซน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของเอฟดีเอชี้ว่า การตรวจพบกัมมันตภาพรังสีครั้งนี้อยู่ในปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่ผู้คนรับในแต่ละวัน เช่น คน 1 คนจะรับกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำในการเดินทางไปกลับข้ามประเทศ ดูโทรทัศน์ และแม้แต่จากวัสดุก่อสร้าง
สำนักงานดังกล่าวยังกระตุ้นให้มีการตรวจสอบน้ำนม น้ำฝน น้ำดื่ม และทางอื่นๆ ที่อาจรับกัมมันตภาพรังสีได้ ตามสถานการณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่น
แผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 9.0 และสึนามิทำลายล้าง เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาทำลายระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ จนเกิดการระเบิด และไฟไหม้หลายครั้ง จนทำให้กัมมันตภาพรังสีกระจายตัวออกมาภายนอก สร้างความแตกตื่นไปทั่วโลก
สารกัมมนตรังสีจากโรงไฟฟ้า ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียวแห่งนี้ลอยไปตามอากาศ ปนเปื้อนผลิตผลทางการเกษตร และน้ำดื่ม ทั้งยังตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกด้วย
มาตรการหนึ่งที่จะควบคุมวิกฤตนิวเคลียร์ ณ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ คนงานต้องเทน้ำจำนวนหลายหมื่นตันเข้าไปในอาคารเตาปฏิกรณ์ ซึ่งมีแท่งเชื้อเพลิงที่กำลังค่อยๆ หลอมละลายอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิดที่จะสร้างความเสียหายร้ายแรง
อย่างไรก็ตาม น้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากปฏิบัติการดังกล่าวสะสมอยู่ในชั้นล่างสุดของอาคารกังหัน ซึ่งเชื่อมเตาปฏิกรณ์ 3 เครื่องไว้ด้วยกันจนเต็มอุโมงค์ ทำให้เสี่ยงเกินไปที่คนงานจะลงไปเพื่อซ่อมระบบหล่อเย็น ซึ่งจำเป็นสำหรับโรงไฟฟ้าแห่งนี้