xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นรับไม่มีทางเลือก! ต้องฉีดน้ำหล่อเตาปฏิกรณ์ต่อแม้เสี่ยง “รังสี” รั่วไหล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นระบุไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากฉีดน้ำเข้าไปในเตาปฏิกรณ์เพื่อหยุดยั้งการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิง แม้จะเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีก็ตาม

“เราต้องควบคุมไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงร้อนขึ้น การลดอุณหภูมิจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจำเป็นต้องฉีดน้ำต่อไป” ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและทหารยังระดมฉีดน้ำทะเลและน้ำจืดเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ 4 แห่งของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ซึ่งระบบหล่อเย็นได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวระดับ 9.0 และคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา

แต่ผลของปฏิบัติการฉุกเฉินครั้งนี้ กลับทำให้มีน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีขังอยู่ในห้องใต้ดินของเตาปฏิกรณ์ทั้ง 4 แห่ง ตลอดจนอุโมงค์ที่เชื่อมห้องทั้งหมดเข้าด้วยกัน

น้ำในอุโมงค์เชื่อมเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 มีปริมาณราว 6,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำในกีฬาโอลิมปิก 2 สระรวมกัน และมีรังสีแพร่กระจายสูงกว่า 1,000 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบพลูโตเนียมปนเปื้อนในดินรอบๆโรงไฟฟ้าถึง 5 จุด

“เรากำลังพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะลดอุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิง โดยใช้น้ำให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้” เอดาโนะ ระบุ

“แต่โดยพื้นฐานแล้ว เราก็จำเป็นต้องระบายน้ำออกให้เร็วที่สุดเช่นกัน”

พนักงานโรงไฟฟ้าใช้ตัวควบแน่น(คอนเด็นเซอร์)เพื่อระบายน้ำออกจากอาคารกังหันเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 วันนี้(29) ขณะที่การระบายน้ำจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 และ 3 ยังคงล่าช้า เนื่องจากคอนเด็นเซอร์มีน้ำมากจนเกือบล้น

ด้านนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ยอมรับว่า ขณะนี้สถานการณ์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะยังไม่สามารถคาดเดาได้ พร้อมสัญญาว่ารัฐบาลจะ “จัดการปัญหาดังกล่าวและเฝ้าระวังในระดับสูงสุด”
ทาดาโยชิ ทสึเกโนะ ชาวสวนวัย 59 ปี กำลังตรวจสอบแปลงผัก มิทสึบะ ในเมืองนิฮอนมัตสึ จังหวัดฟูกูชิมะ เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น