เอเอฟพี - การปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีทางอากาศแพร่กระจายเกินกว่าเขตกักกันในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ หมายเลข 1 แล้ว ผู้อำนวยการสำนักงานความปลอดภัยด้านปรมาณูฝรั่งเศส (เอเอสเอ็น) เปิดเผย วันนี้ (28)
“เราพบร่องรอยการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเกินกว่ารัศมี 30 กิโลเมตร และอาจปนเปื้อนไปยังผลผลิตอื่นๆ” อังเดร โคลด-ลาคอสต์ ให้สัมภาษณ์โดยสรุปกับนักข่าว “ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่พบเช่นนั้น กัมมันตภาพรังสีอาจแพร่กระจายไปเกินกว่ารัศมี 100 กิโลเมตรก็เป็นได้”
แม้ยังขาดการตรวจวัดอัตราการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่เที่ยงตรง แต่ผู้อำนวยการเอเอสเอ็นก็ปรารภออกมา ว่า “เราทราบชัดว่า ต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการควบคุมพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ” ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งวิงวอนให้ประชาชนที่ยังคงอาศัยอยู่ในรัศมี 20 - 30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ อพยพออกมาพื้นที่เสี่ยงภัยปรมาณูโดยสมัครใจ
ยิ่งกว่านั้น หน้าจอมอนิเตอร์ และมาตรวัดต่างๆ ยังคงใช้การไม่ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทราบข้อมูลชัดเจนของระดับน้ำภายในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว หรือ รู้ว่าแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์หน่วยต่างๆ เกิดการหลอมละลายไปแล้วมากน้อยเพียงใด ลาคอสต์ กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญต่างวิตก ว่า หม้อความดันสูงบรรจุแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 และอีก 3 หน่วยที่เหลือไม่ได้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีขั้นร้ายแรงรั่วไหลลงสู่พื้นดิน หรือน้ำทะเลบริเวณใกล้เคียง
“สถานการณ์ยังคงหนักหนาสาหัสเป็นอย่างยิ่ง เรายังอยู่ในวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ” ลาคอสต์ กล่าว
ผู้อำนวยการเอเอสเอ็นรายนี้สำทับเพิ่มเติม ว่า เพียงแค่สามารถฟื้นฟูระบบหล่อเย็น และปั๊มน้ำสะอาดใส่เตาปฏิกรณ์ อย่างต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้ที่เตาปฏิกรณ์ทุกหน่วยจะกลับเข้าสู่ภาวะเสถียรตามเดิม
อังเดร โคลด-ลาคอสต์ ทิ้งท้ายว่า สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ฝรั่งเศสประเมินสถานการณ์วิกฤตรายวันของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชาวฝรั่งเศสในญี่ปุ่น นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น และข้อมูลจากรัฐบาลประเทศอื่นๆ สังเคราะห์รวมกัน