เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่เทคนิคของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ สามารถกู้ระบบไฟห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์ปรมาณู หมายเลข 1 คืนได้แล้ว วันนี้ (24) แม้ว่าขณะเดียวกันนั้น ยังคงมีไอน้ำสีขาวพวยพุ่งออกมาจากเตาปฏิกรณ์ทั้ง 4 หน่วย อันเป็นผลพวงจากเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ
ความคืบหน้าของภารกิจครั้งนี้หมายความว่า ณ ตอนนี้เจ้าหน้าที่สามารถใช้งานห้องควบคุมระบบไฟฟ้า 2 ห้องสำคัญของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ต้องระเห็จหนีตายท่ามกลางความมืดมิด หลังเกิดการระเบิดขึ้นหลายครั้ง และความหวั่นเกรงอย่างยิ่งถึงการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี
เหตุแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ วันที่ 11 มีนาคม เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ทำลายระบบไฟของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ มิหนำซ้ำระบบไฟสำรองก็ไม่สามารถใช้การได้ นำมาซึ่งการล่มของระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณู เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้แท่งเชื้อเพลิงเกิดความร้อนสูง จนน้ำสำหรับหล่อเย็นเกิดการระเหย กลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ทั่วโลกจับตามองถึงการหลอมละลายของแกนกลางเตาปฏิกรณ์
เครื่องไม้เครื่องมือในการดับเพลิงต่างๆ ได้ลำเลียงน้ำ ทั้งทางบก ทางอากาศ เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิ และเติมน้ำลงในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ไม่ให้เชื้อเพลิงยูเรเนียม-พลูโตเนียม สัมผัสกับอากาศ ซึ่งอาจเกิดวินาศภัยครั้งใหญ่ ทว่า กระบวนการดังกล่าวยังคงปล่อยไอน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีออกมา
การกู้คืนระบบไฟห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์นับเป็นกุญแจสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่หวังว่า จะสามารถกลับมาใช้ระบบหล่อเย็นได้อีกครั้ง ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานภายใต้แสงสว่างจากไฟฉาย โดยไม่มีการระบบปรับอากาศภายใน ซึ่งอาจช่วยสกัดกั้นกัมมมันตภาพรังสีได้บ้าง
“ไฟฟ้าในห้องควบคุม เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ทำงานเมื่อเวลา 11.30 น.(09.30 น.เวลาประเทศไทย)” เจ้าหน้าที่จากสำนักความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่น กล่าว “แต่เรายังไม่มั่นใจว่า ระบบหล่อเย็นจะกลับมาทำงานได้หรือไม่”
กลุ่มควันสีดำยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยคาดกันว่า ควันดังกล่าวเกิดจากการเผาไหม้ของสารหล่อลื่น จากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 วานนี้ (23) เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งอพยพออกจากพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
วันนี้ ทุกคนกลับมาทำงานกันอีกครั้ง โดยตั้งเป้าไว้ว่า จะกู้คืนระบบปั๊มน้ำ เพื่อฉีดน้ำสะอาดเข้าสู่บ่อบรรจุแท่งเชื้อเพลิง แทนที่น้ำทะเล ซึ่งหน่วยดับเพลิงใช้มาตลอดทั้งสัปดาห์ สำนักความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่น แถลง
อย่างไรก็ตาม แม้มีไอน้ำสีขาวพวยพุ่งออกมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1-4 โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่พบการปนเปื้อนของปริมาณกัมมันตภาพรังสีเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีอยู่ช่วงหนึ่ง อุณหภูมิภายในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 พุ่งสูงถึง 400 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิที่กำหนดไว้ที่ 302 องศาเซลเซียส ก่อนกลับเข้าสู่ภาะเสถียรวันนี้