xs
xsm
sm
md
lg

พบน้ำปนเปื้อนรังสีลามไปอาคารปฏิกรณ์แห่งที่ 2 น้ำทะเลแปซิฟิกมีไอโอดีน-131 เกินขีดกว่าพันเท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ซึ่งกองกำลังป้องกันตัวเองภาคพื้นดินของญี่ปุ่นเผยแพร่ออกมาในวันศุกร์ (25)
เอเอฟพี - บริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ หรือเท็ปโกเผย พบน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในระดับ ที่สูงกว่าปกติถึง 10,000 เท่าในอาคารเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของญี่ปุ่นเป็นแห่งที่สองแล้ว ขณะที่น้ำทะลในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณใกล้กับโรงไฟฟ้าดังกล่าวก็ยังพบสารรังสีไอโอดีน-131 เกินขีดจำกัดทางกฎหมาย 1,250 เท่า

น้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีถูกพบบริเวณชั้นล่างสุดของอาคารกังหันไอน้ำของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 เพียง 1 วันหลังจากอ่านค่าเดียวกันได้ในชั้นใต้ดินของอาคารกังหันเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ซึ่งเพิ่มความกังวลว่าหม้อความดันสูง หรือวาลว์ และท่อของเตาปรมาณูอาจมีการรั่วไหล

เท็ปโกเสริมว่า สารกัมมันตรังสีที่พบในน้ำปนเปื้อนจากอาคารปฏิกรณ์ทั้ง 2 แห่งมีทั้งสารรังสีไอโอดีน ซีเซียม และโคบอลต์ มากกว่าระดับปกติถึง 10,000 เท่า

สำหรับ สถานการณ์ที่เลวร้ายสุดที่อาจเกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 คือแท่งเชื้อเพลิงแกนกลาง ซึ่งมีส่วนประกอบของยูเรเนียมและพลูโตเนียมที่ปะทุได้ง่ายนั้น เข้าสู่ขั้นวิกฤต และเกิดการเผาไหม้จากก้นหม้อปฏิกรณ์แรงดันสูง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นยืนยันว่า หม้อปฏิกรณ์ดังกล่าวยังคงเสถียร จากข้อมูลอื่นๆ ที่รวบรวมได้

ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ยังระบุว่า จากการตรวจสอบล่าสุดพบสารรังสีไอโอดีน-131 ในระดับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด 1,250.8 เท่า ในน่านน้ำห่างจากชายฝั่งออกไปหลายร้อยเมตร ซึ่งใกล้กับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1

ด้านฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ โฆษกสำนักงานดังกล่าวแถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า ระดับสารรังสีไอโอดีนดังกล่าวอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ยืนยันว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และสัตว์ที่เป็นอาหารทะเลเพียงเล็กน้อย

นิชิยามะยังเสริมว่า วัตถุนิวเคลียร์ซึ่งไหลลงสู่ทะเลจะแพร่กระจายไปตามกระแสน้ำ ทำให้สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตในทะเลดูดซับสารรังสีดังกล่าวเข้าไป แต่เนื่องจากไอโอดีน-131 มีครึ่งชีวิต 8 วัน ดังนั้นกว่าจะถึงเวลาที่คนบริโภคผลิตภัณฑ์จากทะเลเหล่านั้น ปริมาณรังสีก็ลดลงไปมากแล้ว

โรงไฟฟ้าติดชายทะเลแห่งนี้ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิขนาดยักษ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ล้มเหลว

นับตั้งแต่นั้น เจ้าหน้าที่ต้องใช้น้ำหลายพันตันเพื่อลดความร้อนให้กับเตาปฏิกรณ์ โดยพยายามให้แท่งเชื้อเพลิงจมอยู่ในบ่อน้ำ ที่สร้างขึ้นในอาคารคลุม เพื่อไม่ให้เชื้อเพลิงเหล่านั้นสัมผัสอากาศ และปล่อยวัตถุนิวเคลียร์แพร่กระจายออกมา

กัมมันตภาพรังสีระดับสูงที่พบในน้ำทำให้ความพยายามในการรักษาเตาปฏิกรณ์หลายเครื่องของโรงไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพนั้นชะลอลง หลังจากคนงาน 3 รายได้รับสารปนเปื้อน เนื่องจากเดินลุยแอ่งน้ำในอาคารกังหัน โดยไม่ได้สวมรองเท้าที่เหมาะสม เมื่อวันพฤหัสบดี (24) ที่ผ่านมา

กำลังโหลดความคิดเห็น