xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นหาวิธีใหม่ๆคุมวิกฤตนิวเคลียร์ น้ำทะเลเปื้อนรังสีพุ่งเป็น3,355เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาใช้หนทางริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการคลี่คลายวิกฤตนิวเคลียร์ ตั้งแต่การฉีดพ่นยางเรซินตามพื้นโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เพื่อดักจับอนุภาคกัมมันตรังสี, การนำเอาสิ่งทอทำจากวัสดุพิเศษมาห่อหุ้มเตาปฏิกรณ์ที่กำลังปล่อยรังสีรั่วไหลออกมา, ไปจนถึงการส่งหุ่นยนต์ทหารเข้าไปทำงานที่เสี่ยงอันตราย หลังจากวิธีเดิมๆ ซึ่งใช้มากว่า 2 สัปดาห์มีความคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าและเผชิญกับอุปสรรคใหม่ๆ ไม่ขาดสาย ทำให้หัวหน้าโฆษกรัฐบาลต้องออกมายอมรับวานนี้(30)ว่า ไม่อาจระบุได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เมื่อใด มิหนำซ้ำล่าสุดยังมีข่าวร้ายเพิ่มเติมเข้ามาอีก นั่นคือได้ตรวจพบน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้ามีสารกัมมันตรังสีไอโอดีนพุ่งพรวดจากไม่กี่วันก่อน สู่ระดับ 3,355 เท่าของขีดสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ แถมยังมีควันลอยออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งก็ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติเช่นกัน

แรงกดดันกำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ให้ต้องมีการขบคิดสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ แบบออกมานอกกรอบ ขณะที่ ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาล ตลอดจนบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ที่อยู่ในสภาพอัมพาตภายหลังเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในวันที่ 11 เดือนนี้ ต่างออกมายอมรับว่า ไม่ทราบเลยว่าเมื่อใดจึงจะสามารถควบคุมวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้ได้

“เรายังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญๆ หลายๆ ประการ เป็นต้นว่า เหตุนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจะยุติลงได้ด้วยวิธีไหน … พูดง่ายๆ ก็คือ คาดหมายได้ว่าสถานการณ์อันยากลำบากมากๆ เช่นในเวลานี้จะยังคงดำเนินต่อไป” สึเนฮิซะ คัตสึมาตะ ประธานของเท็ปโกแถลงต่อผู้สื่อข่าว

ขณะที่สื่อมวลชนญี่ปุ่นรายงานว่า มาตรการอย่างใหม่ๆ ที่มีการพิจารณาจะนำเอามาใช้ประการหนึ่งได้แก่ การนำเอานำสิ่งทอทำจากวัสดุพิเศษมาคลุมด้านนอกของอาคารเตาปฏิกรณ์จำนวน 3 เครื่องที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพื่อจำกัดกัมมันตภาพรังสีที่ออกมาสู่ภายนอก

ส่วนอีกแผนการหนึ่งนั้นจะนำเอาเรือบรรทุกน้ำมันที่ไม่ได้บรรทุกอะไร ไปจอดทอดสมอที่ใกล้ๆ กับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 แล้วให้คนงานสูบเอาน้ำปนเปื้อนรังสีเข้มข้นสูงที่มีปริมาณมากเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิกหลายๆ สระ ออกมาบรรจุไว้ในเรือ

แต่วิธีการใหม่ๆ ที่จะมีการนำมาปฏิบัติอย่างแน่นอนแล้ว ก็คือ ตั้งแต่วันนี้(31) คนงานจะเริ่มฉีดพ่นยางเรซินสังเคราะห์ตามพื้นประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ฝุ่นกัมมันตภาพรังสีปลิวขึ้นสู่อากาศ หรือถูกชะล้างลงมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ใกล้ๆ ทั้งนี้ยางเรซินสังเคราะห์นั้นละลายน้ำได้ ครั้นเมื่อน้ำระเหยเหือดแห้งลง มันก็จะกลายเป็นกองสารเหนียวๆ และสามารถจับฝุ่นรังสีเอาไว้

เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ กล่าวกับเอเอฟพีว่า “เราอยู่ในสถานการณ์ชนิดที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องขบคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ที่แตกต่างออกไป ต้องไปให้พ้นจากการขบคิดด้วยวิธีปกติทั่วไป”

ขณะที่ เอดาโนะ หัวหน้าโฆษกรัฐบาลก็แถลงว่า รัฐบาลและพวกผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์กำลังหารือกันถึง “ความเป็นไปได้ทุกๆ อย่าง รวมทั้งพวกวิธีการที่มีเอ่ยเอาไว้ในสื่อมวลชนด้วย”

เขายอมรับด้วยว่า “เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ซึ่งเราสามารถพูดได้ว่า เราจะทำให้เรื่องนี้กลับมาอยู่ในความควบคุมได้ในเวลาเมื่อนั้นเมื่อนี้”

มีรายงานด้วยว่า สหรัฐฯได้ส่งหุ่นยนต์จำนวนหนึ่งมาให้ญี่ปุ่นยืมใช้ หุ่นยนต์เหล่านี้สร้างขึ้นตามแบบจำลองที่ใช้ทดสอบทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน โดยพวกเมันสามารถที่จะเคลื่อนที่ไปตามทิศทางที่กำหนด, ถ่ายภาพ, และเก็บกวาดซากปรักหักพังต่างๆ ภายในอาคารเตาปฏิกรณ์ซึ่งได้รับความเสียหายได้ ภายในอาคารเหล่านี้หลายๆ บริเวณมีน้ำปนเปื้อนรังสีความเข้มข้นสูง ตลอดจนอาจจะมีฝุ่นรังสีอยู่ในอากาศ จนมีความเสี่ยงเกินกว่าที่จะส่งมนุษย์เข้าไปทำงานได้

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ยังให้คำมั่นสัญญาที่จะช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ อีก ขณะที่เขาหารือกับนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ของญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ 3 นับแต่ที่เกิดภัยพิบัติคราวนี้ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้ว เป็นจำนวนกว่า 11,000 คน แล้วยังมีอีกกว่า 16,000 คนที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นผู้สูญหาย

ขณะเดียวกัน ทีมผู้เชี่ยวชาญจาก อาเรวา รัฐวิสาหกิจฝรั่งเศสที่เป็นผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์ ก็มาถึงญี่ปุ่นแล้ววานนี้เพื่อให้คำปรึกษาหารือแก่ทีมผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายญี่ปุ่น

เมื่อวานนี้ยังเกิดเหตุที่ทำให้หวาดหวั่นขวัญระทึกเพิ่มขึ้นอีกเป็นช่วงระยะสั้นๆ นั่นคือได้มีควันลอยออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดนิ ซึ่งดำเนินการโดยเท็ปโกเช่นกัน และตั้งอยู่ห่างจากฟูกูชิมะ ไดอิจิ ประมาณ 10 กิโลเมตร ทั้งนี้ ฟูกูชิมะ ไดนิ ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเหมือนกัน แต่ข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หลายวันแล้ว

ในเวลาต่อมา เท็ปโกแถลงว่า ควันที่เห็นลอยออกมานั้น มาจากแผงสวิตช์จ่ายไฟฟ้า และไม่ได้มีสาเหตุจากการเกิดเพลิงไหม้แต่อย่างใด

ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่หลายรายแจ้งว่า ได้มีการตรวจพบว่า สารกัมมันตรังสี ไอโอดีน-131 ในน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณใกล้ๆ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ มีระดับเข้มข้นพุ่งพรวดขึ้นไปอยู่ที่ 3,355 เท่าของขีดสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต โดยที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ระดับรังสีบริเวณนี้ยังวัดได้ที่ 1,850 เท่าของขีดสูงสุดที่กฎหมายยินยอม

“ตัวเลขนี้กำลังเพิ่มมากขึ้นอีก” ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ โฆษกของสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นแถลง “เราจำเป็นต้องค้นหาให้พบโดยเร็วที่สุดว่ามันมีสาหตุมาจากอะไร และหยุดยั้งไม่ให้มันเพิ่มขึ้นไปกว่านี้”

ความตึงเครียดจากวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้ที่โถมทับเข้ามาเรื่อยๆ เหมือนไม่รู้สิ้นสุด ดูเหมือนจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อ มาซาทากะ ชิมิซุ ประธานกรรมการบริหารวัย 66 ปีของเท็ปโก โดยมีรายงานว่าเขาถูกนำตัวเข้าโรงพยาบาลในคืนวันอังคาร(29) ด้วยอาการความดันเลือดสูง และคลื่นไส้อาเจียน ทั้งนี้เขาไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมาเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว

คัตสึมาตะ ประธานของเท็ปโกซึ่งออกมาแสดงบทบาทเพิ่มมากขึ้น กล่าวยอมรับวานนี้ว่า เขาคิดว่าแทบไม่มีโอกาสเอาเลยที่เตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องจากจำนวน 6 เครื่องของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งได้รับความเสียหายหนักมาก จะสามารถกลับมาใช้งานได้อีก และคงจะต้องปิดไป

อนึ่ง ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้ออกคำสั่งวานนี้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยของโรงงานประเภทนี้ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤตนิวเคลียร์เป็นต้นมา ที่รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงการยอมรับว่า มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังบกพร่องไม่เพียงพอ สำหรับมาตรการใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมขึ้น มีดังเช่น ต้องมีไฟฟ้าสำรองเตรียมไว้ในกรณีกระแสไฟฟ้าตามปกติดับลง, มีรถดับเพลิงพร้อมสายฉีดที่ใช้งานได้ทันทีพร้อมเอาไว้ตลอดเวลา, ต้องทำให้มั่นใจว่าระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ทำงานได้อย่างแน่นอน
ญี่ปุ่นหาวิธีใหม่ๆคุมวิกฤตนิวเคลียร์ ส่งหุ่นยนต์เข้าไปเสี่ยงภัยแทน
ญี่ปุ่นหาวิธีใหม่ๆคุมวิกฤตนิวเคลียร์ ส่งหุ่นยนต์เข้าไปเสี่ยงภัยแทน
ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาใช้หนทางริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการคลี่คลายวิกฤตนิวเคลียร์ ตั้งแต่การฉีดพ่นยางเรซินตามพื้นโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เพื่อดักจับอนุภาคกัมมันตรังสี, การนำเอาสิ่งทอทำจากวัสดุพิเศษมาห่อหุ้มเตาปฏิกรณ์ที่กำลังปล่อยรังสีรั่วไหลออกมา, ไปจนถึงการส่งหุ่นยนต์ทหารเข้าไปทำงานที่เสี่ยงอันตราย หลังจากวิธีเดิมๆ ซึ่งใช้มากว่า 2 สัปดาห์มีความคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าและเผชิญกับอุปสรรคใหม่ๆ ไม่ขาดสาย ทำให้หัวหน้าโฆษกรัฐบาลต้องออกมายอมรับวันพุธ(30)ว่า ไม่อาจระบุได้ว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เมื่อใด มิหนำซ้ำล่าสุดยังมีข่าวร้ายเพิ่มเติมเข้ามาอีก นั่นคือได้ตรวจพบน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้ามีสารกัมมันตรังสีไอโอดีนพุ่งพรวดจากไม่กี่วันก่อน สู่ระดับ 3,355 เท่าของขีดสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ แถมยังมีควันลอยออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งก็ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น