xs
xsm
sm
md
lg

คปก.เร่งสร้างเครือข่ายวิจัยนานาชาติ หนุนผลิตงานวิจัยสู่การพัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผอ.คปก. กล่าวว่า ขณะนี้คปก.ได้จัดทำ “โครงการเครือข่ายวิจัยนานาชาติ โดยมีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายรวม 50 เครือข่าย ภายใน 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2555-2564
คปก.เร่งสร้างเครือข่ายวิจัยนานาชาติ 50 เครือข่าย ใน 5 ปี พร้อมจัดสรรทุนเครือข่ายละ 5 ทุน หนุนผลิตงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้-เชิงพาณิชย์-เชิงนโยบาย-เชิงพัฒนาชุมชน พร้อมร่วม สวทช. ภาคเอกชน ต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงเชิงพาณิชย์ ในการพัฒนาประเทศด้วย

ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่าทาง คปก. นั้นได้จัดทำ “โครงการเครือข่ายวิจัยนานาชาติ (International Research Network Project)” ขึ้น เพื่อมุ่งสร้างเครือข่ายวิจัยที่มีโจทย์วิจัยจำเพาะและชัดเจน โดยแต่ละกลุ่มวิจัยจะประกอบด้วย นักวิจัยไทยประมาณ 5 คน และต่างประเทศประมาณ 5 คน รวมทั้งภาคเอกชนของไทยและต่างประเทศด้วย

นอกจากนั้น ยังสนับสนุนให้เครือข่ายวิจัยผลิตบุคลากรในระดับปริญญาเอก ให้ผลิตผลงานวิจัยในลักษณะที่เป็นองค์ความรู้ ผลงานวิจัยที่จะใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงพัฒนาชุมชน

ผอ.คปก. กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนั้นใช้ฐานการจัดการของโครงการ คปก. ในการพัฒนางานวิจัยในลักษณะที่เป็นกลุ่ม และความร่วมมือของนักวิชาการในหลากหลายสาขาวิชา เพื่อส่งผลให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด มีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 50 เครือข่าย ภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2564

เครือข่ายเหล่านี้จะต้องบริหารจัดการและจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ โดย คปก. คาดว่าจะจัดสรรทุน คปก. ตามเกณฑ์คุณภาพที่ได้ดำเนินการมาแล้ว ให้เครือข่ายละประมาณ 5 ทุน เป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปี โดยเมื่อเสร็จสิ้นแต่ละเครือข่ายนี้จะผลิตดุษฎีบัณฑิตได้ถึง 25 คน และมีผลงานวิจัยในลักษณะที่เป็นองค์ความรู้ซึ่งอาจจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกจำนวนมาก

ศ.ดร.อมเรศ กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2555 ซึ่งเป็นปีแรกของการเริ่มดำเนินโครงการ คปก. จึงมีแผนการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยนานาชาติร่วมกับองค์กรต่างประเทศและกลุ่มวิจัยสาขาต่าง ๆ ที่มีความพร้อมในการดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับประเด็นเร่งด่วนตามร่างนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ พ.ศ.2555-2559 แบ่งเป็น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ภาวะโลกร้อนและพลังงานทางเลือก จำนวน 2 เครือข่าย ภายใต้หัวข้อ “Polymer Technology”

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 2 เครือข่าย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกและการนำเข้า จำนวน 3 เครือข่าย ภายใต้หัวข้อ “Food safety” (Chemistry aspect, Microbial aspect) และ “Functional Food”

ยุทธศาสตร์ที่ 9 การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพ จำนวน 3 เครือข่าย ภายใต้หัวข้อ “Infectious Disease” , “Osteoporosis” และ “Medicinal plants”

อย่างไรก็ดี คปก. ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยที่ได้ไปบริหารจัดการ เพื่อก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลให้งานวิจัยดังกล่าวเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อการพัฒนาประเทศ

ศ.ดร.อมเรศ บอกต่อว่า คปก. จึงได้เริ่ม “โครงการการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่เป็นผลงานของ คปก.” โดยได้ร่วมมือกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยในรูปแบบของบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติและสิทธิบัตรของดุษฎีบัณฑิต คปก. มาบริหารจัดการจนสามารถพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน กระทั่งสามารถพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์

การนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรมนั้น นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ในการริเริ่มการนำผลงานวิจัยจาก “หิ้ง” ไปสู่ “ห้าง” เพื่อทำให้ผลงานวิจัยของบัณฑิตศึกษาสามารถเอื้อต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป” ศ.ดร.อมเรศ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น