xs
xsm
sm
md
lg

อีก 5 ปีไทยต้องการเพิ่มนักวิจัยปีละ 4,000 คน เน้นจบ ป.เอกในประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผอ.คปก.บอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนและต้องผลิตบัณฑิตในด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การเกษตร สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นอย่างมาก
คปก.เผยอีก 5 ปี ไทยต้องการเพิ่มนักวิจัยปีละ 4,000 คนในการขับเคลื่อนประเทศ โดย 80% ต้องการผู้จบ ป.เอกในประเทศ ชี้รัฐควรเน้นให้ทุนเรียนในไทยมากกว่าต่างประเทศ ซ้ำยังลดต้นทุนได้รายละ 6 ล้านบาท เผยอุดมศึกษาไทยผ่านประเมินงานวิจัยระดับ 5 พร้อมรองรับถึง 41 สาขา

โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดงานแถลงข่าวเรื่อง "นโยบายรัฐในการส่งนักศึกษาปริญญาเอกไปเรียนต่อต่างประเทศแบบเต็มเวลา" ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี วันที่ 1 เม.ย. 54

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการนโยบาย คปก.ได้แสดงความเห็นต่อนโยบายรัฐ ในการส่งนักศึกษาปริญญาเอกไปเรียนต่อต่างประเทศแบบเต็มเวลา ว่าขณะนี้โลกเราเปลี่ยนไปเยอะมาก การที่จะสร้างคนที่มีคุณภาพนั้น ทางประเทศเราต้องเป็นคนผลิตทรัพยากรของเราเอง เพื่อนำผลงานการวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอก มาพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความเจริญมากขึ้น

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่าในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น ประเทศไทยต้องการนักวิจัยถึง 4,000 คนต่อปี ซึ่ง 80% มีความต้องต้องการนักศึกษาที่จบปริญญาเอกในประเทศ หากคิดเป็นตัวเลขประมาณ 3,200 คน และรัฐบาลอาจจะต้องแบกภาระ ในการให้ทุนครึ่งหนึ่งประมาณ 1,600 คน ที่เหลือให้ภาคเอกชน และผู้ศึกษารับภาระตรงนี้ไป

ทางด้าน ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผอ.คปก.เสริมว่า ขณะนี้ประเทศไทย ยังขาดแคลนและต้องผลิตบัณฑิตในด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การเกษตร สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นอย่างมาก และปัจจุบันรัฐบาลให้งบสนับสนุนการเรียนต่อปริญญาเอกต่างประเทศทั้งหมดกว่า 1,000 คนต่อปี โดยให้ คปก. 300 คนต่อปี

อย่างไรก็ดี ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้สนับสนุนทุนการศึกษา คปก. เพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศนั้น ใช้งบประมาณทุนละ 7 ล้านบาท แต่สำหรับต้นทุนการผลิตบัณฑิตปริญญาเอกในประเทศไทยใช้เงินเพียงทุนละ 1.7 ล้านบาทเท่านั้น

"จากข้อมูลนี้จะเห็นว่า สามารถลดต้นทุนได้ถึงทุนละ 5 ล้านบาทต่อคน และหากมี 300 คน ก็จะสามารถลดต้นทุนได้ทั้งหมด 1500 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย"
ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว 

ขณะที่ ศ.ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย อดีต ผอ.คปก.กล่าวว่า กระบวนการผลิตนักศึกษาปริญญาเอกนั้น ต้องทำให้ได้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเทศทั้งในภาคอุตสาหกรรม หรือสาธารณประโยชน์ โดยนักศึกษาปริญญาเอก ควรจะผลิตผลงานวิจัยที่เน้นประโยชน์ทางสังคม และสามารถพัฒนาต่อยอด เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปในทิศทางที่ดีขึ้นอีกด้วย

"หากมองในส่วนนี้ จะเห็นได้ว่า การส่งไปนักศึกษาไปเรียนต่อปริญญาเอกในต่างประเทศนั้น ก็จะทำให้ไปช่วยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้กับประเทศอื่น ซึ่งถือว่าควรที่จะสนับสนุนให้ศึกษาต่อในประเทศเองดีกว่า"

ศ.นพ.วิจารณ์ อธิบายด้วยว่า จากการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยโดย สกว. นั้น มีหน่วยงาน/สาขาวิชาที่ได้ผลประเมินระดับ 5 และมีมากถึง 41 สาขา ในมหาวิทยาลัย 9 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

“จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า อุดมศึกษาของประเทศไทยได้มาตรฐานนานาชาติ และมีความพร้อม รวมถึงความเข้มแข็งด้านการศึกษาวิจัยอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องส่งไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ศ.นพ.วิจารณ์เตือนว่า การส่งนักศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศนั้นหากไม่ระวัง อาจจะไม่ได้ไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้า หรือไม่ได้คุณภาพ เมื่อนักศึกษาจบมาเป็น ดร.แล้ว ก็จะไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ หากมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าให้ทุนนักศึกษาไทยไปเรียนก็ควรที่จะสนับสนุน

อย่างไรก็ดี ศ.นพ.วิจารณ์ ยังบอกด้วยว่า รัฐบาลไทยที่มุ่งส่งนักศึกษาไปเรียนในต่างประเทศนั้นอาจมองแค่มิติเดียว แท้จริงหากให้นักศึกษาเรียนต่อ ป.เอกในเมืองไทยนั้น สามารถนำผลการศึกษาวิจัยศึกษาสร้างความรู้ให้กับสังคมในชาติ ช่วยในเรื่องของการพัฒนาประเทศ ทั้งยังสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ยังสร้างความเข้มแข็งให้อุดมศึกษาไทยอีกด้วย
ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์  กล่าวว่าในอีก 5 ปีข้างหน้านั้นประเทศไทยต้องการนักวิจัยถึง 4,000 คนต่อปี
ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์  คูวัฒนาชัย  อดีต ผอ.คปก.กล่าวว่านักศึกษาปริญญาเอกควรจะผลิตผลงานวิจัยที่เน้นประโยชน์ทางสังคม และสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้นอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น