xs
xsm
sm
md
lg

คลี่ความกังวล “น้ำดื่ม” ปนเปื้อนสารรังสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความกังวลต่อการปนเปื้อนสารรังสีในน้ำดื่มทำให้น้ำบรรจุขวดเป็นที่ต้องการ (ภาพประกอบข่าวจากไซแอนทิฟิกอเมริกัน)
แม้ว่าความกังวลต่อน้ำดื่มที่ปนเปื้อนสารรังสีในญี่ปุ่นจะคลายลงไปบ้าง แต่ยังมีคำถามตามมาอยู่ โดยสารรังสีบางตัว สามารถกรองออกจากน้ำดื่ม หรือปล่อยให้สลายตัวไปตามธรรมชาติได้ แต่ยังสารรังสีตัวอื่น ที่คงส่งผลกระทบระยะยาวต่อไปอีก

เป็นเวลาเกือบเดือนแล้วที่แผ่นดินไหวและสึนามิได้สร้างความเสียหายต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukushima Daiichi) ของญี่ปุ่น และคนงานก็พยายามอย่างหนัก ที่จะลดความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นของแท่งเชื้อเพลิงที่ร้อนจัด แต่สถานการณ์ยังคง “น่าเป็นห่วงอย่างมาก” ตามที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ระบุ

แม้ว่าการควบคุมพื้นที่ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนสารรังสีในน้ำดื่ม ที่ครอบคลุมไปไกลถึงกรุงโตเกียว ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 240 กิโลเมตร จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ยังปรากฏการปนเปื้อนของไอโอดีนรังสีและซีเซียมรังสีในน้ำสำหรับอุปโภคของ 4 หมู่บ้านในเมืองฟูกูชิมะ และมีคำแนะนำ ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบดื่มน้ำก๊อก ซึ่งไซแอนทิฟิกอเมริกันรายงานว่าเรื่องดังกล่าวยังมีผลต่อความกังวลด้านสุขภาพของประชาชนต่อไปอีก

ทั้งนี้ สารรังสีหรือไอโซโทปรังสีนั้น ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในหลายด้าน หากได้รับรังสีในระดับต่ำมีโอกาสที่จะคลื่นไส้และอาเจียน แต่หากในรับสารรังสีในปริมาณสูงจะทำให้ประสาทส่วนกลางถูกทำลาย และมีอาการตกเลือดภายในร่างกาย โดยไอโอดีนรังสีนั้นจะถูกสะสมอยู่ในต่อมไทรอยด์ และมีผลทำให้เกิดมะเร็งไทรอยด์ได้ โดยเฉพาะในเด็ก

ไซแอนทิฟิกอเมริกันอ้างรายงานของซีเอ็นเอ็นที่ระบุคำสัมภาษณ์ของ สก็อตต์ เดวิส (Scott Davis) ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ในซีแอตเทิล สหรัฐฯ ว่า ในอดีตมีคำแนะนำเพียงเล็กน้อย เกี่ยวกับน้ำดื่มในกรณีฉุกเฉินจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) ในยูเครนที่ระเบิดเมื่อเดือน เม.ย.1986 นั้น พบผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากการดื่มนมปนเปื้อนสารรังสี แต่การหายใจสูดสารรังสี หรือบริโภคน้ำนั้นเป็นประเด็นสุขภาพน้อยมากสำหรับกรณีเชอร์โนบิล

จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) เมื่อปี 2005 ระบุว่า การปนเปื้อนสารรังสีที่ผิวน้ำทั่วยุโรป จากกรณีเชอร์โนบิลนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเจือจาง การสลายตัวทางกายภาพและการดูดกลืนนิวไคล์ดรังสี (radionuclide) โดยตะกอนก้นแหล่งน้ำ และดินของพื้นที่กักเก็บน้ำ อย่างไรก็ดี พบการปนเปื้อนของซีเซียมรังสีเพิ่มขึ้นในปลาที่มาจากทะเลสาบที่อยู่ไกลถึงเยอรมนีและแถบสแกนดิเนเวีย

ทั้งนี้ ในกรณีที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญ ระดับไอโอดีนรังสีและซีเซียมรังสีในน้ำดื่มทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นนั้น เพิ่มสูงสุดในช่วง 1 สัปดาห์หลังจากสึนามิเข้าถล่มระบบทำความเย็นให้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ โดยทีมฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) รายงานว่า มีไอโอดีน 131 ปริมาณ 170 เบคเคอเรล ต่อ กิโลกรัม ในน้ำดื่มของเมืองฟูกูชิมะ เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2011 แต่ระดับสารรังสีก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับ 1 เบคเคอเรลนั้น เป็นค่าที่บ่งถึงการอัตราการสลายตัวทางรังสี หรือการปลดปล่อยรังสีของสสาร ใน 1 ครั้งต่อวินาที ซึ่งตัวเลขที่วัดได้ในวันที่ 18 มี.ค.นั้น มีความสำคัญยิ่ง เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นออกข้อบังคับว่า เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบไม่ควรได้รับน้ำที่ปนเปื้อนสารรังสีเกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (น้ำ 1 ลิตร หนัก 1 กิโลกรัม) ส่วนผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงน้ำที่ปนเปื้อนสารรังสีมากกว่า 300 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ตามมาตรฐานปัจจุบันที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนด

จากรายงานที่รวบรวมโดยกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม การกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ไม่พบระดับอันตรายของไอโอดีนรังสีหรือซีเซียมรังสีในพื้นที่ 47 เมืองของญี่ปุ่น นับแต่วันที่ 24 มี.ค. ซึ่งวันดังกล่าว พบไอโอดีน 131 ในปริมาณ 110 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ที่เมืองโทจิกิซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือ 100 กิโลเมตร และห่างจากเมืองฟูกูชิมะ 160 กิโลเมตร

แม้ว่าสถาบันสาธารณสุขญี่ปุ่น (Japan Institute of Public Health) ได้รายงานว่า พบระดับสารรังสี 210 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัมในน้ำดื่มของกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 23 มี.ค. แต่ทางหน่วยงานมหานครกรุงโตเกียว (Tokyo Metropolitan Government) ได้แถลงในวันต่อมาว่า มีการอ่านค่าผิดพลาดและสูงกว่าระดับความเป็นจริง ซึ่งอยู่ที่ 79 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัมเท่านั้น

แม้จะมีการรับประกันว่า น้ำดื่มในพื้นที่ส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นนั้นปลอดภัย แต่ยังมีความต้องการน้ำดื่มบรรจุขวดอยู่มากในเมืองหลวง จนห้างร้านต้องจำกัดให้ซื้อน้ำดื่มได้ไม่เกินคนละ 1 ขวดเท่านั้น ขณะเดียวกันทางสถานีเอ็นเอชเค (NHK) ได้เผยแพร่ข่าวสารว่า ทางการของกรุงโตเกียวสัญญาที่จะแจกจ่ายน้ำแร่บรรจุขวด 3.5 ลิตรให้แก่ 80,000 ครัวเรือนที่มีเด็กอ่อนอยู่ในบ้าน

ทั้งนี้ นิวไคลด์รังสีส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงไอโอดีน 131 และ ซีเซียม 134 กับ ซีเซียม 137 นั้น สามารถแยกออกจากน้ำได้ แต่สิ่งปนเปื้อนอย่างอื่น เช่น “ทริเทียม” (tritium) ไฮโดรเจนหนัก ซึ่งเป็นมลพิษทางรังสี ที่พบได้มากอันเป็นผลผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ไม่อาจกรองออกจากน้ำได้ ซึ่งไอโซโทปรังสีนั้น จะถูกกำจัดออกไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าไอโซโทปนั้นคืออะไร

น้ำที่ปนเปื้อนวัสดุรังสีนั้น ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการต้ม ฟอก หรือฉายรังสีอัลตราไวโอเลต เหมือนน้ำดื่มที่ปนเปื้อนจุลินทรีย์ อย่าง อี.คอไล (E.coli) หรือเชื้ออื่นๆ แต่จะต้องกรองด้วยระบบกรองที่มีถ่านกัมมันต์ (activated charcoal) ระบบรีเวอร์สออสโมซิส (reverse osmosis) หรือการกรองความกระด้าง

นอกจากนี้ สารกัมมันตรังสีอาจปนเข้าไปในระบบประปา จากการตกลงสู่เบื้องล่างของแหล่งเก็บน้ำหรือการดูดซับสู่พื้นผิวของเม็ดดินในแหล่งเก็บน้ำ

อีกทางเลือกสำหรับการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีคือ รอคอยจนกว่าสารกัมมันตรังสีเหล่านั้นจะสลายตัวทางรังสีจนอยู่ในระดับปลอดภัย ซึ่งระยะเวลานั้นขึ้นอยู่กับค่าครึ่งชีวิต (half-life) ของสารรังสีเหล่านั้น โดยแต่ละไอโซโทป มีค่าครึ่งชีวิตแตกต่างกัน ตั้งแต่ระยะเวลาสั้นๆ ระดับวินาทีไปจนถึงหลายหมื่นปี

เดวิด โอโซนอฟฟ์ (David Ozonoff) ศาสตราจารย์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และประธานกิตติคุณจากภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยสาธารณสุข ของมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) กล่าวว่า ไม่มีวิธีเดี่ยวๆ ที่กำจัดไอโอดีนรังสี ซีเซียมรังสีหรือสารรังสีอื่นๆ ออกจากน้ำ ซึ่งเราจำเป็นต้องทราบว่า มีสารรังสีชนิดไหนปนเปื้อนในน้ำ และจากนั้นจะบอกได้ว่า จะสามารถกำจัดสารรังสีปนเปื้อนเหล่านั้นได้หรือไม่ และต้องใช้กระบวนการบำบัดน้ำแบบใด

ทางด้าน ร็อบ เรนเนอร์ (Rob Renner) ผู้อำนวยการมูลนิธิวิจัยน้ำ (Water Research Foundation) กล่าวว่า เรื่องยากอย่างหนึ่ง ในการบำบัดน้ำที่ปนเปื้อนสารรังสีคือ เครื่องกรองและแผ่นกรองน้ำจะกลายเป็นขยะรังสี ซึ่งจำเป็นต้องนำไปกำจัดอย่างระมัดระวัง

"หากขยะเหล่านั้น สัมผัสสารรังสีที่มีครึ่งชีวิตน้อยกว่า 30 วัน อย่างเช่น ไอโอดีน 131 ที่มีค่าครึ่งชีวิต 8 วันนั้น เครื่องกรองหรือถ่านกัมมันต์ที่ใช้ จะถูกเก็บไว้ไม่กี่เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าวัสดุเหล่านั้นจะปลอดภัยพอที่จะจัดการได้ แต่ถ้าสารรังสีนั้น มีระดับรังสีสูงมากและมีค่าครึ่งชีวิตที่ยาวมาก ก็จะกลายเป็นปัญหาได้" เรนเนอร์อธิบาย 

สำหรับน้ำที่ปนเปื้อนไอโอดีน 131 นั้น นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมอย่าง คีธ บาเวอร์สต็อค (Keith Baverstock) จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นฟินแลนด์ (University of Eastern Finland) ผู้ศึกษากรณีเชอร์โนบิลกล่าวว่า โดยปกติแล้ว เราจะปล่อยให้สารรังสีสลายตัวไปตามกระบวนการตามธรรมชาติ และกว่าที่ไอโอดีนรังสีจะหมุนเวียนไปแหล่งเก็บน้ำ ก็ใช้เวลานานพอที่สารรังสีจะสลายตัวไปก่อน ที่น้ำจะถูกแจกจ่ายไปถึงผู้บริโภค

สิ่งที่ต้องทำคือการปกป้องเด็กๆ จากสารรังสีชนิดนี้ โดยการแจกจ่ายน้ำขวดให้แก่เด็ก ส่วนผู้ใหญ่นั้นไม่มีปัญหาเท่าไร เนื่องจากต่อมไทรอยด์ของผู้ใหญ่ ไม่ไวต่อไอโอดีนรังสีเหมือนเด็ก อย่างไรก็ดี ไอโซโทปรังสีอย่างซีเซียม 137 นั้น มีค่าครึ่งชีวิตถึง 30 ปี.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ญี่ปุ่นหยุดน้ำปนเปื้อนรังสีรั่วไหลลงสู่ทะเลได้แล้ว (6 เม.ย.54)
- พบน้ำเปื้อนรังสีใต้เตานิวเคลียร์ญี่ปุ่นสูง5ล้านเท่า ปลาใกล้โรงไฟฟ้าก็มีรังสี 4000 เท่า (5 เม.ย.54)
- เท็ปโกเริ่มระบายน้ำกัมมันตภาพรังสีกว่า 10,000 ตันลงทะเลหวังเหลือที่กักเก็บเพิ่ม (4 เม.ย.54)
- เท็ปโกพบน้ำปนเปื้อนรังสีจากเตาปฏิกรณ์เบอร์ 2 รั่วไหลลงสู่ทะเล (2 เม.ย.54)
กำลังโหลดความคิดเห็น