xs
xsm
sm
md
lg

ยันสารรังสีจากโรงนิวเคลียร์ญี่ปุ่น ไม่พัดมาไกลถึงไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาคารเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเกิดเพลิงไหม้ (ภาพทั้งหมดจากรอยเตอร์)
ญี่ปุ่นรายงานไอเออีเอการแพร่ของสารรังสีขึ้นถึงชั้นบรรยากาศแล้ว และยังตรวจวัดสารรังสีแพร่ไปถึงกรุงโตเกียว แต่ยันไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้าน ผอ.สถาบันนิวเคลียร์ไทยเคลียร์ข่าวลือ สารรังสีพัดไม่ได้ไปไกลถึงฟิลิปปินส์

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นได้รายงานต่อทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เมื่อเวลา 10.50 น.ของวันที่ 15 มี.ค.54 ตามเวลาประเทศไทยว่า บ่อน้ำสำหรับเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว ของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิชิ (Fukushima Daiichi) ได้เกิดเพลิงไหม้ และรังสีได้แพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว

ขณะเดียวกัน สถานทูตฝรั่งเศสได้เตือนตั้งแต่เวลา 08.00 น.ของวันที่ 15 มี.ค.นี้ว่า ลมซึ่งหอบการแพร่กระจายสารรังสีระดับต่ำ จะไปถึง "โตเกียว" เมืองหลวงของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดอุบัติเหตุ 240 ก.ม. โดยจะไปถึงภายใน 10 ชั่วโมง

ทั้งนี้ สำนักข่าวเกียวโด (Kyodo) ของญี่ปุ่นรายงานด้วยว่า ระดับรังสีในเมืองเมบาชิซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือ 100 ก.ม. ได้เพิ่มขึ้นสูง 10 เท่าจากระดับปกติ และภายใน 1 นาที ก็พบระดับรังสีดังกล่าวในเมืองหลวงของญี่ปุ่น แต่เจ้าหน้าที่รัฐยืนยันว่าระดับรังสีดังกล่าวไม่ก่อปัญหา

อย่างไรก็ดี ปริมาณรังสีในกรุงโตเกียวซึ่งวัดในวันที่ 15 มี.ค.54 ระหว่างเวลา 08.00-09.00 น.ตามเวลาประเทศไทย อยู่ที่ 0.809 ไมโครซีเวิร์ต ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่วัดได้ในวันที่ 14 มี.ค.54 ถึง 20 เท่าตัว

รัฐบาลญี่ปุ่นยังแถลงด้วยว่า พบการแผ่รังสีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สูงถึงระดับ 400 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งจากข้อมูลสมาคมนิวเคลียร์โลก (World Nuclear Association) ระบุว่า การได้รับรังสีเกินกว่า 100 มิลลิซีเวิร์ตต่อปีนั้น เป็นระดับที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

ด้าน ศ.ฮิโรยูกิ ทากาฮาชิ (Hiroyuki Takahashi) นักวิศวกรรมชีวภาพ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ให้ความเห็นว่า หากแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ยังถูกกักเก็บไว้ ก็จะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“สารกัมมันตรังสีจะมาถึงกรุงโตเกียวแน่ แต่มันจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เพราะจะสลายไปตามเวลาก่อนที่จะถึงโตเกียว หากลมพัดแรงขึ้น นั่นหมายความว่าวัสดุนิวเคลียร์จะถูกพัดมาเร็วขึ้นด้วย แต่มันก็จะถูกพัดให้กระจายไปกับอากาศ” โกจิ ยามาซากิ (Koji Yamazaki) ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮอกไกโด (Hokkaido University) กล่าว

นอกจากนี้ ระดับรังสีในเมืองไซทามะ ที่อยู่ใกล้กรุงโตเกียวได้สูงขึ้นกว่าระดับปกติ 40 เท่า ซึ่งไม่มากพอที่จะทำอันตรายมนุษย์ แต่ก็เพียงพอที่จะสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้คนกว่า 12 ล้านคนในเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น

ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังตื่นตระหนกกับระดับรังสีที่เพิ่งสูงขึ้น ในเมืองไทยก็มีข่าวลือต่างๆ นานาเกี่ยวกับการระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น บ้างว่าสารรังสีจะถูกพัดไปถึงฟิลิปปินส์ในเวลา 16.00 น.ของวันที่ 15 มี.ค. บ้างก็ลือว่า ห้ามโดนน้ำฝนในช่วงนี้

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงได้สอบถามไปยัง ดร.สมพร จองคำ ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ซึ่งให้ข้อมูลว่า สารรังสีแพร่ออกมาตั้งแต่วันแรก ที่มีการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว แต่เป็นการระเบิดในส่วนของหม้อน้ำไฮโดรเจน

ไฮโดรเจนดังกล่าวเกิดจากความร้อนยิ่งยวด (Super Heat) ที่ทำให้น้ำสำหรับหล่อเย็นแตกตัวเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน และเมื่อก๊าซไฮโดรเจนได้รับความร้อน 400-500 องศาเซลเซียส จึงเกิดการระเบิดขึ้น แล้วมีสารรังสีและไอออนจากการระเบิดดังกล่าวรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม

ดร.สมพรกล่าวว่า หากมีสารรังสีพัดไปไกลถึงฟิลิปปินส์จริง ป่านนี้ชาวญี่ปุ่นคงเสียชีวิตหมดแล้ว ส่วนข่าวลือว่า ช่วงนี้ห้ามโดนน้ำฝนให้ลืมไปได้เลยว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ อีกทั้งจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เราก็ไม่ควรดื่มน้ำฝนกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organisation : WMO) ได้รายงานสภาพอากาศที่รวบรวมข้อมูลจากญีปุ่น จีน และรัสเซียเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 15 มี.ค.ว่า กระแสลมได้พัดออกจากชายฝั่งไปทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ดังนั้นอานุภาคต่างๆ จะปลิวไปทางมหาสมุทร แต่ในช่วงวันพุธที่ 16 มี.ค.กระแสลมอาจจะพัดกลับมาทางทิศตะวันตกเข้าแผ่นดิน.
ผู้อาศัยรอบรัศมี 20 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ อพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย


รวมเรื่องควรรู้ในพิบัติภัย-วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น
เจ้าหน้าที่ตำรวจสวมชุดป้องกันสารกัมมันตรังสีและนำผู้อาศัยรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น