xs
xsm
sm
md
lg

ชี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นระเบิดไม่ร้ายแรงเท่าเชอร์โนบิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และได้ระเบิดในเวลาต่อมา แต่อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าเป็นการระเบิดที่หม้อน้ำหล่อเย็นหรือระเบิดที่เตาปฏิกรณ์
นักนิวเคลียร์ยังรอเช็คข่าวจากญี่ปุ่นว่าหม้อน้ำหล่อเย็นระเบิดหรือระเบิดที่เตาปฏิกรณ์เลย ชี้ความรุนแรงไม่เท่าเชอร์โนบิลที่เกิดจากความตั้งใจของคนทำให้เกิด และเทคโนโลยีล่าสุดออกแบบให้กัมมันตรังสีถูกกักเก็บไว้ในโรงไฟฟ้าเท่านั้น

ดร.สมพร จองคำ ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบข่าวการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หมายเลข 1 ของญี่ปุ่นว่า เป็นการระเบิดที่หม้อน้ำสำหรับหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ หรือเป็นการระเบิดที่เตาปฏิกรณ์เลย โดยกำลังติดตามข่าวสารจากเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ตามหลักการสร้างโรงไฟฟ้านั้น ดร.สมพรกล่าวว่า หากหม้อน้ำซึ่งทำหน้าที่หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (คล้ายกับหม้อน้ำหล่อเย็นเครื่องยนต์ในรถ) เกิดทำงานผิดพลาดหรือบกพร่อง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะต้องหยุดการทำงานทันที ซึ่งจะป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่วออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ทำให้ท่อน้ำเกิดการขาดหรือรั่ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้พยายามเติมน้ำเพื่อหล่อเย็นอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ว่าเตาปฏิกรณ์ที่อยู่ใกล้กับหม้อน้ำหล่อเย็นอาจเกิดระเบิดขึ้นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เท่ากับการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลซึ่งเกิดจากความตั้งใจของคนอย่างแน่นอน และเทคโนโลยีได้มีความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งหากเกิดการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสี ระบบจะปล่อยผงโบรอนออกมาดูดจับสารกันมันตรังสีเหล่านั้น แต่ก็อาจจะมีที่หลุดรอดออกมาบ้างแต่ไม่อยู่ในระดับอันตรายนัก

หากเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีต้องดูว่าที่จีนและเกาหลีตรวจจับได้หรือไม่ แต่เนื่องจากลมพัดออกสู่ทะเล จึงต้องรอดูว่าทางสหรัฐฯ จะตรวจพบรังสีที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ หากพบแสดงว่ามีการรั่วไหล ซึ่งสหรัฐฯ เกาหลีและญี่ปุ่นมีเครื่องบินที่ขึ้นไปตรวจสอบการแพร่กระจายของรังสีในอากาศ

ส่วนสารกัมมันตรังสีจะแพร่กระจายไปได้ไกลแค่ไหนนั้น ดร.สมพรกล่าวว่า สารเหล่านี้เป็นเหมือนควันที่ลอยขึ้นไปได้สูง 5-10 กิโลเมตร และจะถูกลมบนตีวนและพัดไปได้ไกลถึง 3,000 กิโลเมตร แต่อันตรายหรือไม่นั้น ถือว่าสารกัมมันตรังสีนั้นเจือจางมากเหมือนควัน และไม่อันตรายเท่าไรนัก ในระยะยาวไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เมื่อฝนหรือหิมะตกมาก็จะสารกัมมันตรังสีเหล่านั้นหมดไปภายใน 1 ปี

ก่อนหน้านั้นมีข่าวว่าทางโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ ผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ไอกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าเพื่อลดแรงดันในอาคารปฏิกรณ์ปรมาณู ทาง ดร.สมพรอธิบายว่า เป็นการปล่อยไอร้อนเฉยๆ เหมือนกรณีหม้อน้ำรถยนต์ แต่มีสารกัมมันตรังสีรั่วที่วัดได้จากห้องควบคุมซึ่งไม่ได้รั่วออกสู่ภายนอก และมีข่าวว่ามีสารกัมมันตรังสีมากกว่าปกติ 8 เท่าบริเวณรั้วของโรงไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น้อยมาก คืออยู่ในระดับไมโครซีเวิร์ต (หน่วยวัดปริมาณรังสี) แต่ถ้ามากว่าปกติล้านเท่าคือระดับ 1 ซีเวิร์ตขึ้นไปจึงจะถือว่าอยู่ในระดับอันตราย

ด้าน ยาโรสลอฟ ตรอมบาค (Yaroslov Shtrombakh) ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์ชาวรัสเซียให้ข้อมูลกับบีบีซีนิวส์ว่า การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลนั้นต่างจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น โดยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลนั้นเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์แบบเร็ว (fast reaction)

“ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะถูกจำกัดอยู่แค่บริเวณนั้น และจะไม่กลายเป็นมหันตภัยใหญ่หลวงอะไร” ตรอมบาคให้ความเห็น

ทั้งนี้ เมื่อปี 2529 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดและเกิดไฟลุกท่วม ซึ่งฝุ่นสรารกัมมันตรังสีได้ฟุ้งกระจายไปทั่วยุโรป โดยตามข้อมูล ดร.สมพรระบุว่า สารกัมมันตรังสีไปไกลถึงฟินแลนด์ที่อยู่ห่างออกไปราว 3,000 กิโลเมตร จากการพัดพาของลมบน

สำหรับเตาปฏิกรณ์ของญี่ปุ่นที่เป็นปัญหานี้ได้ปล่อยให้รังสี (ในรูปพลังงาน) ออกมาส่วน และก่อนจะเกิดการระเบิดเจ้าหน้าที่ตรวจพบระดับรังสีสูงกว่าปกติ 8 เท่าจากด้านนอก และพบรังสีเกินระดับปกติ 1,000 เท่าในห้องควบคุมหมายเล็ก 1

สิ่งที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นนี้มีคำศัพท์ที่น่ารู้จักคือ “หลอมละลาย” (meltdown) ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่าไม่ใช่คำศัพท์เชิงเทคนิค แต่เป็นคำศัพท์อย่างไม่เป็นทางการที่จะอธิบายถึงความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของระบบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการสูญเสียความสามารถในการควบคุมจัดการอุณหภูมิภายในโรงไฟฟ้า

รวมเรื่องควรรู้ในพิบัติภัย-วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น


ภาพจากแฟ้ม ดร.สมพร จองคำ ให้ความเห็นว่าการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งนี้ไม่รุนแรงเหมือนเมื่อ ครั้งเชอร์โนบิล เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันมีระบบควบคุมและป้องกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น