เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตภาพรังสีของสหรัฐฯ เน้นย้ำว่า ระบบหล่อเย็นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะป้องกันหายนะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวญี่ปุ่น สื่อสหรัฐฯ รายงานบทสัมภาษณ์วันนี้ (12)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หมายเลข 1 ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียว 250 กิโลเมตร เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาเพิ่งเกิดการระเบิด และมีความกังวลถึงการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหนึ่งวันให้หลังจากเหตุแผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้กับระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์
รอน เชสเซอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษารังสีในสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทกซัสเทค เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์อเมริกันคนแรกที่เข้าไปยังเขตกักกันกัมมันตภาพรังสีเมื่อปี 1992 หลังเกิดอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในยูเครน
“กรณีที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์กำลังกลายสถานการ์ฉุกเฉิน” เชสเซอร์ กล่าวกับเว็บไซต์ซายน์เดลี ของสหรัฐฯ
รอน เชสเซอร์ ระบุว่า ญี่ปุ่นต้องหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการหลอมละลายของแกนกลางเตาปฏิกรณ์ “เตาปฏิกรณ์ไม่เหมือนกับรถยนต์ ซึ่งสามารถดับเครื่องเมื่อไรก็ได้ เตาปฏิกรณ์จะยังคงทำงานต่อเนื่องด้วยความร้อนสูง จนกว่าแกนกลางจะถูกรื้อออก”
“หากไม่มีน้ำหล่อเย็น มีความเป็นไปได้สูงมากที่ความร้อนจะหลอมแกนปฏิกรณ์ และปล่อยกัมมันตภาพนรังสีจำนวนมหาศาลออกมา”
เชสเซอร์ ซึ่งเคยเข้าไปตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองชิบะในญี่ปุ่น ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นมีมาตรการป้องกันภัยหลายขั้นตอน เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดคิดจากแผ่นดินไหว
ล่าสุด สำนักข่าวเกียวโดรายงาน ว่า การระเบิดภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หมายเลข 1 ที่เพิ่งเกิดขึ้น อาจ “ไม่ร้ายแรง” ส่วนกรุงโตเกียวออกประกาศให้อพยพประชาชนออกจากรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงงานแห่งนี้แล้ว