xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจหนังสือรับมือ “ภัยธรรมชาติ” งานสัปดาห์หนังสือ 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อโลกเอาคืน : วิกฤตภูมิอากาศและชะตากรรมของมนุษย์ (THE REVENGE OF GAIA)
เมื่อมีงานนิทรรศการหนังสือทีไร ทีมข่าววิทยาศาสตร์จะต้องสรรหาหนังสือวิทยาศาสตร์ที่วางแผงในงานมาเสนอเป็นทางเลือกให้แก่ผู้อ่าน แต่ปีนี้ “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ที่มาประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม รวมถึงสภาพอากาศผันผวนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์เราจึงขอพาไปสำรวจหนังสือ ที่บอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติและภัยที่เรากำลังเผชิญ

“งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 39” ซึ่งจัดควบคู่กับ “งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 9” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ระหว่างวันที่ 25 มี.ค.- 6 เม.ย.54 นี้ มีอยู่หลายบูธที่เห็นความสำคัญเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติบนโลกใบนี้ มาตามทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ไปดูกันว่ามีหนังสืออะไรแนะนำให้กับหนอนหนังสือกันบ้าง

เริ่มกันที่บูธนานมีบุ๊คส์ มี 2 เล่มที่น่าสนใจ และเข้ากับสถานการณ์เป็นอย่างดี เล่มแรก “หยุด โลกร้อน เราทำได้” (The Down-to-Earth to Global Warming) เขียนโดย แคมเบรีย กอร์ดอน (Cambria Gordon) และ ลอเรีย เดวิด (Laurie David) แปลโดย ภัทราวุธ พุสิงห์

หนังสือเล่มนี้รวบรวมข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงการเกิดภาวะโลกร้อน และเข้าใจว่าโลกร้อนเอง ที่เป็นผลส่งให้เกิดภัยพิบัติ ตลอดจนได้เรียนรู้วิธีร่วมแรงร่วมใจกันหยุดวิกฤตการณ์โลกร้อน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ ที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ยังใช้หมึกพิมพ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

อีกเล่ม "นานมีบุ๊คส์พาไปสำรวจ โลก : เดินทางสำรวจโลกที่สวยงามและอันตราย” เป็นหนังสือ เสริมความรู้ แนวสารคดี นำเสนอเรื่องภูมิศาสตร์กายภาพที่เกี่ยวกับโลก กำเนิดของโลก การเคลื่อนที่ของทวีป ภูเขาไฟ ตลอดจนการเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ การแผ่ขยายของทะเล ระบบนิเวศน์ของโลก ความหายนะในอนาคต แปลโดย ศุภวัลย์ ตันวรรณรักษ์ ผ่านงานเขียนของเทรฟอร์ เดย์ (Travor Day) นักสัตววิทยาผู้สร้างสรรค์ผลงานน่าอ่านให้แก่เด็กๆ

ถัดมาที่บูธของสารคดี ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้สะดุดตากับหนังสือของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ “รู้ทัน ฝนฟ้า อากาศ” ซึ่งเป็นหนังสือที่จะทำให้คุณเข้าใจกลไกของปรากฏการณ์ ฝน ฟ้า อากาศ ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ

ทั้งนี้ธรรมชาติมีอิทธิพลต่อชีวิตเรา เช่น ไต้ฝุ่น พายุหมุน เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้และเตรียมตัวไว้ ก่อนที่ภัยที่จะเยือน เห็นหนังสือดีๆ น่าอ่านแบบนี้ หนอนหนังสือแวะเวียนมาเลือกซื้อได้

“เมื่อโลกเอาคืน : วิกฤตภูมิอากาศและชะตากรรมของมนุษย์” (THE REVENGE OF GAIA) หนังสือชื่อโดนใจ จากผลงานของนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง “เจมส์ เลิฟล็อก” (James Lovelock) แปลโดย วิลาสินี เดอเบส จากค่ายมติชน

เลิฟล็อกนำเสนอเรื่องผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม ฝนแล้ง หลุมยุบ ภูเขาไฟระเบิด คลื่นความร้อนระบาด น้ำแข็งละลาย อากาศร้อนจัด พร้อมมลพิษอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้จะเป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ให้มนุษย์ได้สำนึกและรู้จักที่จะปกป้องแก้ไขก่อนที่โลกจะเอาคืนมากกว่านี้

หนังสือน่าอ่านอีกเล่ม ที่ยังเข้ากับสถานการณ์ได้ดี ด้วยยอดพิมพ์ครั้งที่ 5 กับเรื่อง “6 องศาโลกาวินาศ” (Six Degrees) เขียนโดย มาร์ก ไลนัส (Mark Lynas ) แปลโดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ และ พลอยแสง เอกญาติ ให้ทุกคนร่วมหาคำตอบกันว่า จริงหรือถ้าหากอนาคตอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 6 องศา เราจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ามนุษย์จะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกหรือไม่ หรือโลกจะเป็นเพียงดาวเคราะห์ที่ไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหมือนดวงอื่นๆ ในเอกภพ ?!?!?

ยังไม่หมดสำหรับค่ายนี้ด้วยผลงานเขียนโดย ดร.ไสว บุญมา และ พ.ญ.นภาพร ลิปป์ปิยากร เมื่อฤดูกาลผันแปรไปจากเดิม แม่น้ำถูกปิดกั้นบังคับตามใจมนุษย์ มหาสมุทรไร้ปลาแหวกว่าย อากาศเต็มไปด้วยมลพิษร้าย ขั้วโลกใต้ไม่มีน้ำแข็งสิ่งที่มนุษย์ทำกำลังกร่อนกินตัวเอง และกัดกินแผ่นดินที่เราอยู่ ถึงเวลาแล้วที่จะทวนหวนคิด ที่มนุษย์จะเป็นมิตรกับดิน น้ำ ลม ไฟ ผ่านเรื่อง “ธาตุ 4 พิโรธ”

เดินต่อมาที่บูธชมรมเด็ก นำเสนอ “พลังงาน” หนังสือแปลจากสเปนโดยอดิศัย ณ ถลาง และ อมรา พลอยสังวาลย์ ภายในเล่มจะอธิบายถึงพลังงาน ที่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตพื้นฐาน เช่น พลังงานจากถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าชธรรมชาติ ตลอดจนพลังงานนิวเคลียร์ และหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณเข้าใจพลังงานที่มีอยู่บนโลกนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีหนังสือดีที่น่าจะหาได้ในงานนี้ (แต่อาจหลุดรอดสายตาทีมงานไป) อาทิ “มหันตภัยไกล้ตัว : แผ่นดินไหว” เป็นผลงานเขียนของเอียน รอห์น (Ian Rohn) แปลโดย ดร.วราวุธ สุธีธร จากค่ายเนชั่น และจากสำนักพิมพ์วาไรตี้ มีเดีย ที่เขียนขึ้นโดย นายรอบคอบ กับ “รับมืออย่างไรกับภัยสึนามิ” นำเสนอวิธีการเตรียมความพร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุ วิธีเอาตัวรอดเมื่อคลื่นยักษ์ถาโถม และยังรวบรวมที่มาที่ไปของภัยพิบัติสึนามิอย่างเจาะลึกถึงแก่นแท้ ทั้งนี้จะช่วยให้สามารถเตรียมตัวรับมือได้อย่างทันท่วงที

หนังสือที่เราแนะนำมานี้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่ง ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่กำลังจัดอยู่ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 6 เม.ย.54 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ สำหรับใครที่ต้องการใช้ความรู้อธิบายสิ่งรอบตัว และรับมือกับภัยธรรมชาติ ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ยังมีหนังสือทั้งในแนววิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อศึกษาธรรมชาติอีกเป็นจำนวนมากมาย.
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจะมีถึงวันที่ 6 เม.ย.54 หนอนหนังสือสามารถเข้ามาเลือกชม เลือกซื้อตามใจชอบได้ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์
บรรยากาศของวันที่ 26 มี.ค. 54 แม้จะเป็นวันที่ 2 ของการเปิดงานสัปดาห์หนังสือ มีผู้ที่ให้สนใจเข้ามาจับจองหนังสือกันเป็นจำนวนมาก
หยุด โลกร้อน เราทำได้ (The Down-to-Earth to Global Warming)
นานมีบุ๊คส์พาไปสำรวจ โลก  เดินทางสำรวจโลกที่สวยงามและอันตราย
รู้ทัน ฝนฟ้า อากาศ”  โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ
หนังสือน่าอ่านจากบูธชมรมเด็ก “พลังงาน”
หนังสือน่าอ่านจากสำนักพิมพ์มติชน “เมื่อโลกเอาคืน :วิกฤตภูมิอากาศและชะตากรรมของมนุษย์” (ซ้าย) “ธาตุ 4 พิโรธ” (กลาง) และ “6 องศาโลกาวินาศ” (ขวา)
บรรยากาศภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 39 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 9 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ของวันที่ 26 มี.ค.54
นอกจากจะมีบูธของการจัดจำหน่ายหนังสือแล้ว ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ยังเชิญชวนนักอ่านร่วมบริจาคเงินไปช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัยจากแผ่นดินไหวและสึนามิอีกด้วย
อ่านไป หัวเราะไป จากหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือ 54
หลังจากที่ผู้ร่วมงานออกสำรวจหาหนังสือภายในงาน จึงได้นั่งหลบมุมหยิบหนังสือที่ได้จับจองเป็นเจ้าของขึ้นมาดูเนื้อหาภายใน
320x250
กำลังโหลดความคิดเห็น