มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับ นานมีบุ๊คส์ พร้อมด้วยเครือข่ายความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน แถลงเปิดตัวโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ปีการศึกษา 2554” มุ่งวางรากฐานวิทยาศาสตร์ให้เด็กปฐมวัย ส่งเสริมให้เด็กกระตือรือร้น กล้าคิด ช่างสังเกต พร้อมตั้งเป้า 3 ปี มีโรงเรียนเครือข่าย 15,000 แห่ง พร้อมเปิดรายการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” ออกอากาศทางทีวีไทยใน ก.ค.นี้ อีกด้วย
คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และประธานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ได้กล่าวเปิดตัวโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ปีการศึกษา 2554” เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 54 ว่า โครงการนี้ ต้องการวางรากฐานการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ให้เด็กวัยอนุบาล ที่มีอายุระหว่าง 3-6 ปี ส่งเสริมให้เด็กกระตือรือร้น ช่างคิด ช่างสังเกต รู้จักตั้งคำถามพร้อมกับค้นหาคำตอบ ตลอดจนมีทักษะการสื่อสาร และสามารถที่จะทำงานเป็นกลุ่มได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ในฐานะรองประธานโครงการ และผู้ดำเนินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้นำแนวคิดของโครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาตร์สำหรับเด็กอนุบาลในประเทศเยอรมนี “เฮาส์ แดร์ ไคลเน็น ฟอร์เชอร์” (Haus der kleinen Forscher) มาใช้ ซึ่งโครงการดังกล่าวนั้นประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยสามารถขยายผลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จากโรงเรียน 50 แห่งในปีแรก สู่ 15,000 แห่ง ใน 3 ปี”
สำหรับประเทศไทยนั้น ปี 2553 ได้นำร่องไปสู่โรงเรียน 221 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง อุดรธานี สมุทรสงคราม ราชบุรี และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการบริหารงานโดยผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network : LN) ทั้งหมด 8 แห่ง
ทั้งนี้ คุณหญิงสุมณฑา กล่าวด้วยว่า ในปี 2554 ประเทศไทยได้ตั้งเป้าโรงเรียนไว้ 3,000 แห่ง โดยมี ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น 210 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15,000 แห่งภายใน 3 ปี อีกทั้งในปีนี้ ทุกโรงเรียนที่อยู่ในจังหวัดน่าน และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้เข้ามาร่วมโครงการดังกล่าวทั้งหมดแล้ว และจะขยายผลไปในทุกโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป
รองประธานโครงการและผู้ดำเนินโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ได้อธิบายต่อว่า โครงการนี้มุ่งหวังที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ใน 2 ระดับ คือ ในระดับโรงเรียนและครอบครัว
ระดับโรงเรียน คือ ทางโครงการนั้นจะมี "กล่องนักวิทยาศาสตร์น้อย" ให้กับโรงเรียนที่เข้าโครงการ ซี่งในกล่องจะประกอบไปด้วยใบกิจกรรมการทดลองมีทั้งหมด 60 กิจกรรมการทดลอง โดยมี 6 หมวดได้แก่ น้ำ อากาศ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไฟฟ้า แสง สี และการมองเห็น และคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีคู่มือครู โดยจะมีเทคนิคการสอนทฤษฏีและหลักการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ อย่างง่าย พร้อมสมุดบันทึก บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เพื่อบันทึกกิจกรรมต่างๆที่ทำในโรงเรียน
“ทุกโรงเรียนที่เข้าโครงการที่ทำการทดลองวิทยาศาสตร์กับเด็กๆ จะได้รับตรา “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” มื่อจบโครงการแต่ละครั้ง จะต้องบันทึกกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 20 การทดลอง และทำโครงงานวิทยาศาสตร์ไม่ต่ำกว่า 2 โครงงาน ” นางสุวดี กล่าว
นอกจากนั้น ยังมีการอบรมครูผู้สอน เพื่อเตรียมเครื่องมือและความพร้อมในการสอนแบบใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวิทยากรหลัก (Core Trainer) จะเป็นผู้ที่วางแผนและถ่ายทอดกระบวนการเรียนการสอนของโครงการให้กับวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น ซึ่งแต่ละเครือข่ายประกอบด้วยโรงเรียนประมาณ 30-150 แห่ง
แต่ละเครือข่ายสามารถส่งผู้แทน 2-4 คน เป็นวิทยากรท้องถิ่น (Local Trainer : LT) เข้ารับการอบรมการอบรมการสอนและการใช้สื่ออุปกรณ์ รวมทั้งคู่มือการสอนกับทีมงานของโครงการ จากนั้นวิทยากรท้องถิ่น จะต้องถ่ายทอดเทคนิค และแนะนำวิธีการสอนไปยังครูอนุบาลตามโรงเรียนต่างๆ
ทั้งนี้ ยังมีการประกาศรับอาสาสมัครผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรพี่เลี้ยง เพื่อช่วยเหลือครูในการสอนและพูดคุยกับเด็ก เพื่อปลุกเร้าความสนใจให้เด็กมีความกระตือรือร้น ที่จะเรียนรู้และมีความรักในวิทยาศาตร์ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กนอกห้องเรียนอีกด้วย
ส่วน ระดับครอบครัว จะมีการให้ความรู้ความเข้าใจ แก่ผู้ปกครองให้มีบทบาทการปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้แก่ลูกผ่านนิทานและการทดลองอย่างง่ายจากหนังสือ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย”
อย่างไรก็ดี ทางโครงการยังได้จัดทำเว็บไซต์ http://www.littlescientistshouse.comหรือ www.witnoi.com เพื่อ ให้ครูและผู้ปกครองได้เข้ามาค้นหาความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และเพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโครงการต่อไป
อีกทั้งคณะกรรมการของโครงการยังกำลังพัฒนารายการโทรทัศน์ชื่อ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” ซึ่งจะออกอากาศในช่อง "ทีวีไทย" ในช่วงเดือน ก.ค. นี้ โดยจะออกอากาศในช่วงเช้าของวันเสาร์และวันอาทิตย์ มีเนื้อหาทั้งหมด 10 นาที โดย 3 นาทีแรก จะเป็นการ์ตูนแอนนิเมชั่นแนววิทยาศาสตร์ จากนั้นอีก 7 นาที จะมีการทดทองสนุกสานให้ได้รับชมกันอีกด้วย