ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งนี้ไม่มีครูมาคอยสอน ไม่มีข้อมูลอธิบายว่าเครื่องมืออยู่ตรงหน้านั้นมีไว้ทำอะไร สิ่งผู้ที่เดินเข้าไปในศูนย์แห่งนี้ต้องคือ “ทดลองเล่น” เมื่อสนุกสนานจนพอใจแล้วก็บ้านไปหาคำตอบว่า ทำไมมันเป็นเช่นนั้น? นี่คือวิถีการเรียนรู้แบบ “แฮนด์-ออน” ซึ่งได้ถ่ายทอดจากเยอรมนีมาสู่เมืองไทย
เมื่อก้าวสู่ศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ (NANMEEBOOKS Hands-on Science Center in association with PHANOMENTA Ludencheid) ของบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด นั้นสิ่งที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เห็นคือเครื่องเล่นที่วางตามจุดต่างๆ ให้เราเข้าไปทดลองเล่น เครื่องเล่นเหล่านั้นเป็นสถานีทดลองให้เราได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยการลงมือทำ และไม่มีคำอธิบายว่าสิ่งที่ได้สัมผัสนั้นเป็นเพราะอะไร
ตัวอย่างเช่นกระจกเว้าบานใหญ่ซึ่งวางเยื้องทางเข้า เมื่อทดลองเดินตรงเข้าไปจนพบว่าใบหน้าของเราค่อยๆ หายไปแล้วกลายเป็นภาพหัวกลับในที่สุด หรือกระจก 3 บานที่สามารถหมุนได้ เมื่อทดลองหมุนปรากฏว่าลวดลายต่างๆ นั้นเคลื่อนที่ได้ หรือใบหน้าไอน์สไตน์ที่เมือนกันมากเมื่อมองตรงๆ แต่เมื่อเดินผ่านไป ใบหน้าหนึ่งจะมองตามคุณตาไม่กระพริบ เหล่านี้เป็นตัวอย่างสถานีทดลองซึ่งมีทั้งหมด 26 สถานี
ถ้าใครคิดว่าระยะทางสั้นที่สุดจะทำให้เราถึงหมายเร็วที่สุดอาจต้องเปลี่ยนใจเมื่อทดลองเล่นที่สถานีทางด่วน (The Big Race) ซึ่งมีเส้นทางให้ปล่อยลูกบอล 3 เส้นทาง คือ ทางโค้ง ทางตรงและทางเว้า แต่เราต้องกลับไปทางคำตอบว่า เหตุใดทางตรงซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดจึงไม่ใช่เส้นทางที่ลูกบอลหล่นไปถึงเป้าหมายก่อน ส่วนสถานีลูกบอลกลางอากาศ (Bernoulli Ball) ก็ชวนให้เราฉงนว่าลมที่ถูกเป่าออกมาจากท่อนั้นทำให้ลูกบอลลอยอยู่ได้อย่างไร
เหล่านี้เป็นการเรียนรู้แบบแฮนด์-ออน (Hands-on) ที่มีต้นแบบมาจากศูนย์วิทยาศาสตร์เฟโนเมนตา (PHANOMENTA) http://www.phaenomenta.com/ เมืองลูเดนไชด์ (Ludenchied) เยอรมนี โดย นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า เธอมีความตั้งใจอยากสร้างแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นการทำกิจกรรมลักษณะนี้บ้าง หลังจากที่มีโอกาสไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในหลายประเทศ เมื่อมีความพร้อมมากขึ้นจึงพยายามต่อยอดการเรียนการเรียนรู้จากการอ่านสู่การปฏิบัติจริง โดยเริ่มจากการนำสื่อวิทยาศาสตร์มาจำหน่าย
จนกระทั่ง มร.โยฮาคิม เฮคเคอร์ (Joachim Hecker) นักเขียนเยอรมัน เจ้าของผลงาน “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” ของนานมีบุ๊คส์ได้แนะนำนางสุวดีให้รู้จัก มร.ฮันส์-เฮนนิง ลังคิทช์ (Hans-Henning Langkitsch) คณะกรรมการศูนย์วิทยาศาสตร์เฟโนเมนตา เยอรมนี เมื่อเดือน ต.ค.53 และได้เริ่มหารือกันเมื่อเดือน ก.พ.54 ที่ผ่านมา และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ของศูนย์วิทยาศาสตร์ดังกล่าวสู่เมืองไทยในที่สุด ซึ่งกรรมการผู้จัดการนานมีบุ๊คส์กล่าวว่าเยอมนีนั้นมีศูนย์วิทยาศาสตร์ในชุมชนอยู่มาก และเน้นว่าเยอรมันนั้นถือเป็น “แม่แบบ” ของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ชุมชน
ทางด้าน มร.ลังคิทช์ กล่าวว่าศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งแรกของโลกคือ “เอกซ์พลอราทอเรียม” (Exploratorium) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2512 โดย แฟรงก์ ออพเพนไฮเมอร์ (Frank Oppenheimer) แต่ศูนย์ดังกล่าวนำเสนอวิทยาศาสตร์ในรูปแบบที่บอกวิธีการเป็นขั้นๆ และได้คำตอบที่ตายตัว จนกระทั่งในปี 1986 ได้มีแนวคิดในการทำศูนย์วิทยาศาสตร์ที่มีปรัชญาสำคัญว่า “ไม่ต้องสอน” ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำมาสู่ศูนย์วิทยาศาสตร์เฟโนเมนตาอยู่ทั่วเยอรมนี และได้ถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวสู่นานมีบุ๊คส์
“ผู้เข้าชมจะได้เห็นสถานีทดลองก่อนและเจอคำถามกระตุกให้คิด แต่ไม่บอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผู้ชมจะได้เรียนรู้เอง โดยไม่ต้องบอกให้ทำอะไร เมื่อกลับบ้านก็จะได้ความรู้เพิ่มขึ้น และเป็นเรื่องดีที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ของที่นี่เชื่อมโยงกับสำนักพิมพ์ เพราะผู้จะได้กลับไปอ่านและต่อยอดความรู้ได้” มร.ลังคิทช์กล่าว
ส่วนโจฮาคิมได้กล่าวถึงรูปแบบการเรียนรู้แบบแฮนด์-ออนว่า เป้นสิ่งสำคัญ เพราะหากอยากเรียนรู้ต้องลงมือทำ และสิ่งที่เด็กคิดจะต้องส่งต่อถึงมือเด็ก ซึ่งการทดลองแบบแฮนด์ออนนี้เป็นการเปิดโลกของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และยังกล่าวอีกว่าตอนนี้การเรียนวิทยาสาสตร์ส่วนมากเป็นการสอนให้ท่องจำ แล้วเหลือเวลาสำหรับการทดลองเพียงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบันเราเติบโตมากับวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การทำให้วิทยาศาสตร์มาอยู่ในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ
สำหรับศูนย์วิทยาศาสตร์ปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้นานมีบุ๊คส์ (NANMEEBOOKS Learning Center) ซึ่งยังมีศูนย์การเรียนรู้อีก 2 ส่วนคือ ห้องเรียนทดลองวิทย์ (Science Experiment Classroom in association with Gakken) ซึ่งเป็นห้องกิจกรรมเสริมวิทยาศาสตร์โดยความร่วมมือกับสถาบันกักเคน (Gakken) ประเทศญี่ปุ่น โดยเป้าหมายของห้องเรียนทดลองวิทย์นี้ให้เกิดการตั้งคำถาม โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ทดลองด้วยอุปกรณ์ตามหลักสูตรของกักเคนที่เน้นการทดลองแบบแฮนด์-ออนเช่นเดียวกัน
อีกศูนย์การเรียนรู้คือศูนย์เสริมศักยภาพเด็กปฐมวัย (NAMEEBOOKS Kiddy Intelligence Center) ซึ่งเน้นกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย โดยแบบ่งกิจกรรมเป็น 4 สถานี ได้แก่ สถานีขบวนรถไฟรักการอ่าน (The Reading Train) ซึ่งคัดเลือกหนังสือเหมาะแก่เด็กปฐมวัยมาไว้ในส่วนนี้ สถานีเราเล่น เราได้เรียนรู้ (We Play We Learn) ที่มีเครื่องเล่นกระตุ้นการเรียนรู้เด็กปฐมวัย สถานี 6Q Up อัจฉริยะปั้นได้ ซึ่งมีอุปกรณ์สำหรับพัฒนาระบบการรับรู้พื้นฐานให้เล่น และสถานีบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย (Little Scientists’ House) โครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการทดลองและพัฒนาทักษะต่างๆ
*************
สำหรับผู้สนใจเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้นานมีบุ๊คส์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ Nanmeebooks Call Center
โทร. 0-2662-3000 กด 1 หรือ ต่อ 5226