xs
xsm
sm
md
lg

จี้สนพ.ปรับตัวรับอี-บุ๊คโมเดลร้านหนังสือหดตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจปี54ชะลอตัว ส่งโมเดลร้านหนังสือขนาดเล็กลง “ซีเอ็ด” ชี้หนังสือแปลหดตัว ส่วนอี-บุ๊คดูกระแสปลายปีมาแน่ ชวนสำนักพิมพ์วางแผนตั้งรับ มั่นใจสิ้นปีเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เท่าปีก่อน

วานนี้(15 ก.พ.) บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดสัมมนาเรื่อง ที่สุดในธุรกิจหนังสือปี 2553 โดยนายทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจหนังสือปี2553 ที่ผ่านมา จากตัวเลขของทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยพบว่า มีการเติบโตขึ้น 5-7.5% มากกว่าเป้าที่วางไว้ โดยเป็นการเติบโตจากช่องทางการจัดจำหน่ายในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า และร้านหนังสือ เป็นหลัก

นอกจากนี้พบด้วยว่า การขยายของธุรกิจค้าปลีกทุกรูปแบบเติบโตต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้ร้านหนังสือเครือข่ายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันพื้นที่ในศูนย์การค้าแพงมากขึ้น มีการแข่งขันสูง พื้นที่ร้านหนังสือจึงมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้หนังสือถูกคัดเลือกเข้าร้านมากขึ้น โดยในปี 2552 พื้นที่ขายในร้านหนังสือเติบโตขึ้น 10% ปีก่อนเหลือเพียง 5% และในปีนี้คาดว่าจะเติบโตลดลงอีกเล็กน้อย

ในปี2553 จำนวนร้านหนังสือ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล 1,311 ร้าน เพิ่ม 13.2% ต่างจังหวัด 2,022 ร้าน เพิ่ม 13.3% เป็นร้านรูปแบบเครือข่าย 2,958 ร้าน หรือกว่า 89% ของจำนวนร้านทั้งหมด และมีร้านอิสระเปิด 20 ร้าน แต่ปิดตัวไปแล้ว 18 ร้าน โดยในส่วนของซีเอ็ดนั้น ปีก่อนขยายสาขา 25 สาขา รายได้เติบโต 10% (เทียบจากสาขาเดิม) ปีนี้จะขยายเพิ่มอีก 25 สาขาเท่าเดิม และปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อน

ในปี2553 ตัวเลขการออกหนังสือใหม่เพิ่มขึ้น 11% หรือกว่า 15,086 เล่ม เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41.3 เล่ม ราคาเฉลี่ยต่อเล่มเท่าเดิม ประมาณ 168.15 บาท โดยกลุ่มหนังสือวรรณกรรมเป็นกลุ่มที่มีการออกใหม่มากที่สุด ราว 3,493 เล่ม เติบโตขึ้น 12.8% รองลงมาคือ หนังสือเด็กเล็ก 3,068 เล่ม เพิ่มขึ้น 8.5% และอันดับสาม คือ คู่มือเรียน/สอบ อยู่ที่ 1,735 เล่ม เพิ่มขึ้น 23%

กลุ่มสำนักพิมพ์ที่มีการออกหนังสือใหม่มากสุดคือ สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำนวน 1,008 เล่ม อันดับสอง คือ เพชรประกาย 694 เล่ม และเนชั่น เป็นอันดับที่สาม 516 เล่ม โดยกลุ่มผู้จัดจำหน่ายหนังสือ ที่มีหนังสือออกใหม่มากสุด คือ อมรินทร์ จำนวน 2,427 เล่ม, ซีเอ็ด 2,203 เล่ม และ สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย 1,048 เล่ม ตามลำดับ ส่วนสำนักพิมพ์ที่มีจำนวนเล่มขายของหนังสือออกใหม่มากสุด คือ แจ่มใส นานมีบุ๊คส์ และซีเอ็ด ตามลำดับ แนวโน้มหนังสือแปลออกใหม่มีจำนวนน้อยลง ขณะที่รายชื่อหนังสือที่มีจำนวนเล่มขายมากสุด คือ “ความทุกข์มาโปรด ความทุกข์โปรยปราย” ผู้แต่ง ว.วชิรเมธี

สำหรับกระแสอี-บุ๊คนั้น ต้องรอดูในช่วงไตรมาสสามและสี่ กับแนวโน้มของเครื่องอี-บุ๊คและแทปแลท ที่กำลังจะเข้ามาอีกมาก จากปัจจุบันมีผู้ใช้อยู่กว่า 3 แสนเครื่อง และส่วนมากใช้เพื่อความบันเทิงมากกว่าอ่านหนังสือ มองว่าถ้าถึง 5 แสนเครื่อง และราคาต่ำกว่า 10,000 บาท จะเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้อี-บุ๊คเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ในส่วนของสำนักพิมพ์ควรเตรียมตัวจัดทำข้อมูลรองรับเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นให้พร้อมเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น