xs
xsm
sm
md
lg

ไอเออีเอสรุปสถานะ 6 เตาปฏิกรณ์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ หน่วยที่ 1 (เอเอฟพี)
ครบ 7 วัน ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) สรุปสถานการณ์ล่าสุดของ 6 เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งได้รับความเสียหาย หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงและตามมาด้วยสึนามิขนาดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา

<อัพเดตล่าสุด 19 มี.ค.2011 เวลา 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย>

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2011 แกรแฮม แอนดรูว (Graham Andrew) ที่ปรึกษาพิเศษกิจการผู้อำนวยการทั่วไปด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค (Director General on Scientific and Technical Affairs) ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ได้กล่าวเปิดงานระหว่างการสรุปสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นหลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิแก่ชาติสมาชิกและสื่อมวลชน ณ สำนักงานใหญ่ไอเออีเอ กรุงเวียนนา ออสเตรีย ดังนี้

1.สถานการณ์ปัจจุบัน

สถานการณ์ ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ คล้ายกับที่ได้รายงานไปแล้ว

ความพยายามในการติดตั้งระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โรงไฟฟ้ายังคงดำเนินต่อไป เป็นที่คาดว่าระบบจ่ายไฟฟ้าจะถูกติดตั้งให้แก่อาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 2 ในวันนี้ ซึ่งจะใช้เพื่อเป็นแหล่งไฟฟ้าสำหรับติดตั้งระบบจ่ายไฟคืนให้แก่อาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 ด้วย ถึงกระนั้นเราก็ไม่รู้ว่าปั๊มน้ำถูกทำลายไปด้วยหรือไม่ และจะยังทำงานได้หรือไม่เมื่อระบบจ่ายไฟถูกติดตั้งใหม่

น้ำทะเลยังคงถูกฉีดเข้าไปในหม้อความดันสูงสำหรับบรรจุแท่งเชื้อเพลิง (reactor pressure vessel) ของเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 และ 2 และรถดับเพลิงได้ไปถึงบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อสนับสนุนกำลังในการฉีดน้ำเข้าอาคารเตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 3

“เรายังข้อมูลอันน่าเชื่อถือเกี่ยวกับระดับน้ำและอุณหภูมิ ณ บ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วในเตาปฏิกรณ์ที่ 3 และ 4” แอนดรูวกล่าว

อุณหภูมิที่บ่อเชื้อเพลิงใช้แล้วในหน่วยที่ 5 และ 6 เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา แต่สถานการณ์นี้ไม่ได้เสริมความกังวลแบบทันทีทันใด น้ำในหน่วยทั้งสองยังคงหมุนเวียนภายในหม้อความดันสูงของเตาปฏิกรณ์และบ่อเชื้อเพลิง

เครื่องปั่นไฟน้ำมันดีเซลกำลังจ่ายไฟให้แก่ระบบหล่อเย็นของหน่วยที่ 5 และ 6 ทางไอเออีเอได้รับข้อมูลว่า ที่หลังคาของอาคารเตาปฏิกรณ์ทั้ง 2 แห่งถูกเจาะรูเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากการระเบิดของไฮโดรเจน

2.การตรวจระดับการแผ่รังสี

ระดับรังสีในเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เมื่อวาน (18 มี.ค.)

ทีมตรวจระดับการแผ่รังสีของไอเออีเอทำการวักจุดต่างๆ 7 แห่งในโตเกียวและจังหวัดคานากาวากับจังหวัดชิบะ พบว่าอัตราการแผ่รังสีอยู่ต่ำกว่าระดับที่จะทำอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์

ทีมตรวจวัดรังสียังคงทำงานต่อไปในเมืองไอสุ วากามัตสึ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไปทางตะวันตก 97 กิโลเมตร และพวกเขาเพิ่งทำการวัดเบื้องต้นได้เพิ่มเติม 3 จุด

การวัดระดับรังสีโดยทางญี่ปุ่นเองในจุดต่างๆ แสดงให้เห็นว่านิวไคลด์รังสี (radionuclide) เช่น ไอโซโทปอย่างไอโอดีน-131 และซีเซียม-137 อยู่ในระดับที่พบในธรรมชาติ

ระดับดังกล่าวมีนัยสำคัญต่ออาหารและการเกษตรในพื้นที่ประสบเหตุ ทางไอเออีเอและองค์การอาหารและเกษตร (Food and Agriculture Organization: FAO) ของสหประชาชาติ กำลังปรึกษากับทางเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นในการวัดระดับรังสีในบริเวณดังกล่าวที่สัมพันธ์กับอาหารและการเกษตร

กระทรวงสาธารณสุข พลังงานและสังคมสงเคราะห์ของญี่ปุ่น ได้ประกาศว่า ระดับการแผ่รังสีที่เกินกว่าระดับกฎหมายกำหนดถูกตรวจพบในนมที่ผลิตในเมืองฟูกูชิมะและในผักที่ปลูกในเมืองอิบารากิ และได้เรียกร้องให้คณะกรรมการอนามัยในเมืองฟูกูชิมะทำการประเมินที่จำเป็น เช่น จำแนกผู้ผลิตตัวอย่างที่ถูกตรวจพบรังสีเกินกำหนดเหล่านี้ และสถานที่วางขายสินค้าในสายการผลิตเดียวกันนี้และห้ามจำหน่ายสินค้าดังกล่าวตามกฎหมายด้านความปลอดภัยอาหาร

“ตอนนี้เราได้เข้าถึงข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจากสถานีตรวจวัดนิวไคลด์รังสีซีทีบีทีโอ (CTBTO) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจวัดของหน่วยงานดังกล่าว” แอนดรูวกล่าว

นับแต่มีความกังวลต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดนิ (Fukushima Daini) ยังไม่มีบันทึกถึงเหตุการณ์หรือการแผ่รังสีออกมาจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว และระดับรังสีที่เพิ่มขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ

3.การทำงานของไอเออีเอ
ผู้อำนวยการทั่วไปได้เดินทางจากโตเกียวมายังเวียนนา หลังจากได้ประชุมกับผู้นำอาวุโสของรัฐบาลญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่จากเท็ปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังมีปัญหานี้

<อัพเดตล่าสุด 19 มี.ค.2011 เวลา 11.30 น. ตามเวลาประเทศไทย>

สถานการณ์ ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukushima Daiichi)

เตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 ที่ไดอิจิเป็นเตาปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (boiling water reactors: BWR) โดยตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ซึ่งแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ได้สร้างความเสียหายรุนแรงต่อโรงไฟฟ้า และได้กระตุ้นให้เกิดการปิดตัวอัตโนมัติของเตาปฏิกรณ์ 3 แห่งที่ยังทำงานอยู่ นั่นคือ เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1, 2 และ 3

แท่งควบคุม (control rod) ของเตาปฏิกรณ์ในหน่วยเหล่านั้น ประสบความสำเร็จในการใส่เข้าไปในแกนปฏิกรณ์ (reactor core) ซึ่งได้หยุดปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ของนิวเคลียร์ฟิชชัน (fission)

ส่วนเตาปฏิกรณ์ที่เหลือคือ หน่วยที่ 4, 5 และ 6 ได้หยุดเดินเครื่องก่อนหน้านี้ เพื่อซ่อมบำรุงตามกำหนด

เครื่องปั่นไฟสำรองพลังงานดีเซลที่ออกแบบให้ทำงานหลังจากพลังงานไฟฟ้าถูกตัด เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อปั๊มสารหล่อเย็นหมุนเวียนให้แก่เตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 แห่ง

แทบในทันทีหลังเกิดแผ่นดินไหว สึนามิขนาดใหญ่ได้เข้าถล่มบริเวณที่ตั้งเตาปฏิกรณ์ และทำลายระบบสำรองไฟ ขณะที่แบตเตอรีบางส่วนยังคงทำงานได้อยู่ แต่ทั้งโรงไฟฟ้าก็สูญเสียความสามารถในการรักษาการหล่อเย็นให้แก่เตาปฏิกรณ์และการทำงานของระบบหมุนเวียนน้ำ

ข้อมูลข้างล่างนี้คือสถานะของเตาปฏิกรณ์ 6 แห่ง ซึ่งอ้างอิงจากรายงานและการยืนยันจากทางการของญี่ปุ่น

เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1

สารหล่อเย็นภายในหน่วยที่ 1 ท่วมประมาณครึ่งหนึ่งของแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของเชื้อเพลิง ความดันสูงภายในอาคารครอบปฏิกรณ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปล่อยก๊าซออกจากอาคารครอบเตาปฏิกรณ์ ต่อมาการระเบิดได้ทำลายผนังชั้นนอก ที่อยู่ด้านบนของอาคารเตาครอบปฏิกรณ์เมื่อวันที่ 12 มี.ค.

ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหา ทั้งในหม้อความดันสูงครอบเตาปฏิกรณ์หรือหม้อความดันสูงบรรจุแท่งเชื้อเพลิง (primary containment vessel)

ความพยายามในการสูบน้ำทะเลเข้าสู่แกนเตาปฏิกรณ์ยังคงเดินหน้าต่อไป

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ทางญี่ปุ่นได้ระบุความรุนแรงสำหรับหน่วยนี้ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES) เป็นระดับ 5

เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 2

สารหล่อเย็นภายในหน่วยที่ 2 ท่วมประมาณครึ่งหนึ่งของแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ ซึ่งนำไปสู่ความเชื้อหายของเชื้อเพลิง หลังจากการระเบิดเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ทางการญี่ปุ่นแสดงความกังวลว่า อาคารครอบเตาปฏิกรณ์อาจจะไม่ใช่ไม่เสียหายเลยทีเดียว

เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Nuclear and Industrial Safety Agency: NISA) รายงานเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่า ควันสีขาวยังคงพวยพุ่งออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์

ความพยายามในการสูบน้ำทะเลเข้าสู่แกนเตาปฏิกรณ์ยังคงเดินหน้าต่อไป

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ทางญี่ปุ่นได้ระบุความรุนแรงสำหรับหน่วยนี้ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES) เป็นระดับ 5

เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 3

สารหล่อเย็นภายในหน่วยที่ 3 ท่วมประมาณครึ่งหนึ่งของแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ ซึ่งนำไปสู่ความเชื้อหายของเชื้อเพลิง ความดันสูงภายในอาคารครอบเตาปฏิกรณ์ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปล่อยก๊าซออกจากอาคารครอบเตาปฏิกรณ์ จากนั้นการระเบิดได้ทำลายผนังด้านนอกของอาคารเตาปฏิกรณ์ที่อยู่เหนืออาคารครอบเตาปฏิกรณ์เมื่อวันที่ 14 มี.ค.

หลังจากการระเบิดเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ทางการญี่ปุ่นแสดงความกังวลว่าอาคารครอบเตาปฏิกรณ์อาจจะไม่ใช่ไม่เสียหายเลยทีเดียว เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Nuclear and Industrial Safety Agency: NISA) รายงานเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่า ควันสีขาวยังคงพวยพุ่งออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์

ความพยายามในการสูบน้ำทะเลเข้าสู่แกนเตาปฏิกรณ์ยังคงเดินหน้าต่อไป

ความกังวลเพิ่มเติมต่อเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 คือ สถานการณ์เลวร้ายที่บ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วในอาคาร ซึ่งมีสิ่งบ่งชี้ถึงระดับน้ำหล่อเย็นที่ไม่เพียงพอในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิง และผู้มีอำนาจสั่งการของญี่ปุ่นได้จัดการปัญหาโดยให้โปรยน้ำจากเฮลิคอปเตอร์ลงไปที่อาคารโดยตรง และระดมพ่นน้ำจากรถบรรทุก

เมื่อวันที่ 18 มี.ค กองทัพป้องกันตนเองของญี่ปุ่น (Japanese Self Defence Forces) ใช้รถดับเพลิง 7 คันในความพยายามฉีดน้ำลดความร้อน แต่ไม่มีข้อมูลอุณหภูมิของน้ำในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงเก่า

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ทางญี่ปุ่นได้ระบุความรุนแรงสำหรับหน่วยนี้ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES) เป็นระดับ 5

เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 4

แท่งเชื้อเพลิงทั้งหมด ได้ถูกย้ายออกจากแกนปฏิกรณ์เพื่อการซ่อมบำรุงตามกำหนดก่อนจะเกิดแผ่นดินไหว และเชื้อเพลิงเหล่านั้น ถูกย้ายไปเก็บไว้ในบ่อเก็บเชื้อเพลิงเตาปฏิกรณ์ใช้แล้ว

บางส่วนของด้านนอกอาคารถูกทำลายจากแรงระเบิดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เมื่อวันที่ 14 มี.ค. และมีรายงานถึงเพลิงไหม้ 2 ครั้ง โดยอาจจะรวมถึงเหตุเพลิงไหม้ 1 ครั้งในบ่อเชื้อเพลิงใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ซึ่งดับไปเองตามธรรมชาติ แม้ว่า ยังคงมีควันให้เห็นในวันที่ 18 มี.ค.ก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังคงกังวลต่อสถานะของเชื้อเพลิงใช้แล้ว

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ทางญี่ปุ่นได้ระบุความรุนแรงสำหรับหน่วยนี้ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES) เป็นระดับ 4

เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 5 และ 6

ปิดเดินเครื่องก่อนเกิดแผ่นดินไหว ไม่มีความกังวลฉับพลันทันใดต่อแกนปฏิกรณ์หรืออาคารครอบเตาปฏิกรณ์ของ 2 หน่วยนี้ อย่างไรก็ดี การใช้เครื่องมือไม้เครื่องมือจากบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงทั้ง 2 หน่วยแสดงให้เห็นอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทีละน้อย ทางเจ้าหน้าที่ได้ดัดแปลงใส่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังดีเซลที่หน่วยที่ 6 เพื่อให้พลังงานแก่ระบบหมุนเวียนน้ำในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วและแกนเตาปฏิกรณ์ของหน่วยที่ 5 และ 6

คนงานได้เปิดรูบนหลังคาของอาคารเตาปฏิกรณ์ทั้งสองเพื่อป้องกันการสะสมของก๊าซไฮโดรเจนที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของการระเบิดในหน่วยอื่นๆ

ติดตั้งสายไฟใหม่

มีความก้าวหน้าในการบรรลุผลเพื่อติดตั้งกำลังไฟฟ้าจากภายนอกเข้าไปยังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้ว่าจะยังคงมีความไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ที่กำลังงานไฟฟ้าทั้งหมดจะใช้งานได้เมื่อไร

การอพยพ

ทางการญี่ปุ่นได้ให้ข้อมูลแก่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ว่าการอพยพประชากรจากบริเวณรอบโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ 20 กิโลเมตร ประสบความสำเร็จอย่างดี ทางการญี่ปุ่นยังแนะนำประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในรัศมี 30 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้อยู่แต่ภายในอาคาร

ไอโอดีน

เมื่อ 16 มี.ค. คณะกรรมการความปลอดภัยนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (Nuclear Safety Commission) แนะนำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสั่งผู้อพยพจากรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าให้กลืนกินไอโอดีนเสถียร (ไม่ใช่ไอโอดีนรังสี) ทั้งเม็ดยาและยาน้ำ (สำหรับเด็ก) ได้ถูกจัดเตรียมไว้ที่สถานอพยพแล้ว คำสั่งดังกล่าวแนะนำให้กินแค่ครั้งเดียว โดยปริมาณที่กินขึ้นอยู่กับอายุ

ดังนี้



อายุปริมาณไอโอดีน
ทารก12.5 มิลลิกรัม (mg)
1 เดือน – 3 ปี25 มิลลิกรัม (mg)
3 ปี - 13 ปี38 มิลลิกรัม (mg)
13 ปี - 40 ปี76 มิลลิกรัม (mg)
40 ปีขึ้นไปไม่จำเป็น


การวัดระดับการแผ่รังสี

ระดับการแผ่รังสีใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไดอิจิและรอบนอกมีระดับสูงขึ้นนับแต่ความเสียหายของเตาปฏิกรณ์เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี อัตรารังสีในโตเกียวและพื้นที่อื่นนอกเขตรัศมี 30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า ยังห่างจากระดับที่จำเป็นต้องได้รับการป้องกันใดๆ หรืออีกความหมายหนึ่งคือระดับรังสีไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์

ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ระดับการแผ่รังสีพุ่งสูงขึ้น 3 เท่านับแต่เกิดแผ่นดินไหว แต่ได้คืนความเสถียรเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ซึ่งแม้ว่าเป็นระดับที่สูงกว่าปกติ แต่เป็นระดับที่คนงานสามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่เพื่อพื้นคืนสภาพปกติได้
คุณตา-คุณยายผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ แบ่งซุปกันกินในสถานที่พักพิงชั่วคราว (เอพี)
ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นในสถานที่พักพิงชั่วคราวหลังเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ (รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น